เพื่อนๆ หลายคนโดยเฉพาะชั้นม.6 ที่กำลังค้นหาตัวเองอยู่ ทั้งคณะที่ใช่หรืออาชีพที่ใฝ่ฝัน คงเคยทำแบบทดสอบค้นหาตัวเอง ซึ่งก็เป็นหนึ่งในทางเลือกที่ช่วยให้รู้ว่า คณะหรืออาชีพไหนที่เหมาะกับเราบ้าง แต่ยังมีหลายคนที่ไม่แน่ใจอยู่ดีว่า คณะหรืออาชีพเหล่านั้นใช่เราจริง ๆ หรือเปล่า
วันนี้เราเลยอยากชวนเพื่อน ๆ ที่ยังค้นหาตัวเองไม่เจอ มาทำความรู้จักกับอีกทางเลือกหนึ่ง ที่เรียกว่า ‘การสร้างต้นแบบ’ หรือ ‘Prototype’ ซึ่งปรับมาจากหนังสือ Designing Your Life ของ Dave Evans และ Bill Burnett อาจารย์จากมหาวิทยาลัย Stanford d.school
ขอบคุณภาพจาก Greengineers
Prototype คืออะไร?
‘วิธีการสร้างต้นแบบ’ หรือ ‘Prototype’ นี้เรียกง่าย ๆ ว่า เป็นการลองทำสิ่งใกล้เคียงกับอาชีพหรือคณะที่เราสนใจด้วยวิธีที่ง่ายและเร็วที่สุด เพื่อให้เราเห็นภาพอนาคตคร่าว ๆ ก่อนที่เราจะตัดสินใจเรียนหรือทำอาชีพสายนั้นจริง ๆ ถ้าเปรียบเทียบกับการสร้างบ้าน คงคล้ายกับการดูแบบบ้านหรือโมเดลเล็ก ๆ ก่อนสร้างจริงนั่นเอง ซึ่งวิธีการนี้แบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ได้แก่
01 เรียนรู้จากผู้มีประสบการณ์ (Prototype Conversations)
คุณ Bill Burnett และคุณ Dave Evans กล่าวว่าการพูดคุยกับคนที่มีประสบการณ์นั้น เป็นวิธีการสร้าง Prototype ที่ง่ายที่สุด ซึ่งในที่นี้ คือ การคุยกับคนที่กำลังเรียนหรือทำงานที่เราสนใจอยู่ เพื่อให้รู้ว่านอกจากหลักสูตรกับรายละเอียดงานแล้ว บรรยากาศการเรียนหรือการทำงานสายนั้นจริง ๆ เป็นแบบไหน และไม่แน่ว่าเพื่อน ๆ อาจจะได้ข้อมูลที่อัปเดตว่า อาชีพเหล่านั้นในยุคสมัยนี้ต้องปรับตัวอย่างไร ซึ่งวิธีการที่จะได้พูดคุยกับบุคคลเหล่านั้น ยกตัวอย่างเช่น
- สอบถามจากคนที่เรียนหรือทำงานด้านนั้นโดยตรง หรืออาจจะให้คนรอบตัวช่วยแนะนำคนที่เรียนหรือทำอาชีพสายนี้
- เข้าร่วมกิจกรรม Open House หรือสมัครค่ายต่างๆ ซึ่งไม่ได้จำกัดว่ามีเฉพาะค่ายที่เกี่ยวข้องกับคณะที่อยากเรียนเท่านั้น บางทีอาจจะเป็นการเข้าค่ายด้านสิ่งแวดล้อม ค่ายนักเขียน หรือค่ายที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ เพื่อให้เราได้มีโอกาสไปเจอและพูดคุยคนที่อยู่ในแวดวงนั้นๆ
- การส่งผลงานเข้าประกวด ทั้งในโรงเรียนและนอกโรงเรียน นอกจากจะช่วยให้เราได้ลองค้นหาตัวเองแล้ว ยังสามารถเก็บไว้เป็น Portfolio ได้อีกด้วย และสำหรับเพื่อน ๆ ที่สนใจงานประกวดนอกโรงเรียนแต่ไม่รู้จะไปหาที่ไหน ลองเข้าไปในเว็บไซต์ที่รวบรวมงานประกวดต่าง ๆ เช่น เว็บไซต์ Contest War และเว็บไซต์ ThaiFranchisecenter ซึ่งมีงานประกวดหลากหลายรูปแบบตั้งแต่นักเรียน นักศึกษาไปจนถึงบุคคลทั่วไป
- เข้าไปดู Youtube Channel ที่แนะแนวการศึกษา ซึ่งวิธีนี้เหมาะกับเพื่อน ๆ ที่ถนัดฟังมากกว่าคุย และโชคดีที่ปัจจุบันมีวีดิโอจำนวนมากที่ช่วยแนะแนว รวมทั้งบอกเล่าเรื่องราวเบื้องหลังคณะหรืออาชีพต่าง ๆ ผ่านช่องทางออนไลน์ เช่น The Standard แนะแนว ที่แนะแนวทั้งการศึกษาและการใช้ชีวิตจากประสบการณ์จริง หรือยูทูบเบอร์จากช่อง Luminan ที่มีหลายคอนเทนต์เกี่ยวกับประสบการณ์ด้านการเรียนในมหาวิทยาลัย เป็นต้น
02 เรียนรู้ผ่านประสบการณ์ของตัวเอง (Prototype Experiences)
นอกจากการพูดคุยแล้ว การเรียนรู้ผ่านกิจกรรมที่ใกล้เคียงกับคณะหรืออาชีพนั้นๆ ก็เป็นตัวช่วยในการค้นหาตัวเองให้เจอได้ง่ายยิ่งขึ้น ซึ่งสามารถเริ่มได้จากสิ่งเล็กๆ อย่างกิจกรรมในโรงเรียน เช่น คนที่สนใจอาชีพครูอาจจะลองติวให้เพื่อนๆ ส่วนคนที่สนใจอาชีพพิธีกรอาจจะลองอาสาเป็นตัวแทนพรีเซนต์งานกลุ่มบ่อยๆ หรือการทำกิจกรรมนอกโรงเรียนอย่างการฝึกงาน หรือทำงานพาร์ทไทม์ เช่น ใครที่อยากเป็นเชฟ อาจใช้วิธีการฝึกทำอาหารให้คนที่บ้านทาน หรือทำงานพาร์ทไทม์ในร้านอาหารเพื่อให้ได้เห็นบรรยากาศการทำงานในร้าน และได้มีโอกาสพูดคุยกับคนที่ทำงานด้านนี้ เป็นต้น
จะเห็นได้ว่าวิธีการเหล่านี้ เน้น ‘การลงมือทำ’ เป็นหลัก เพื่อให้เราได้สัมผัสแล้วก็เรียนรู้ในสิ่งที่ใกล้เคียงกับการเรียนหรือการทำงานนั้นจริง ๆ เพราะฉะนั้น เราเลยอยากชวนเพื่อน ๆ เริ่มตั้งต้นจากคำถาม “โตขึ้นอยากจะทำอะไร” แทนคำถามที่เราเคยชินว่า “โตขึ้นอยากจะเป็นอะไร” เผื่อจะช่วยให้ออกแบบกิจกรรมที่เราจะลองเข้าไปทำได้ เพราะไม่แน่ว่า หนึ่งคนอาจจะเป็นได้มากกว่าหนึ่งอาชีพ หรืออาจจะมีความสนใจมากกว่าหนึ่งด้าน ซึ่งหากเราได้ทดลองทำอะไรที่หลากหลายก็ช่วยให้เราค้นพบเส้นทางใหม่ ๆ ที่คาดไม่ถึงก็เป็นได้
ทั้งหมดนี้ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่เราอยากนำเสนอให้เพื่อน ๆ ได้ลองนำไปปรับใช้ก่อนจะตั้งเป้าหมาย และช่วยในการตัดสินใจสำหรับคนที่ยังค้นหาตัวเองไม่เจอ แต่ถ้าใครมีเป้าหมายที่ชัดเจนแล้ว มาเตรียมพร้อมด้านการเรียนไปกับ 5 เคล็ดลับดีๆ กับวิธีอ่านหนังสือสอบให้เข้าสมอง แล้วอย่าลืมโหลดแอปพลิเคชัน StartDee มาเตรียมพร้อม เติมความรู้คู่ความสนุกไปด้วยกันได้เลย
Reference:
Stanford Life Design Lab. (2018, October 2). Odyssey Plans: Prototype Conversations and
Experiences [Video file]. Retrieved from https://www.youtube.com/watch?v=2yFiS-ajQq0
Stepper, J. (2017, April 1). "The simplest & easiest form of prototyping is a conversation". Retrieved from https://workingoutloud.com/blog//the-simplest-easiest-form-of-prototyping-is-a-conversation
รัฐ ปัญโญวัฒน์. (2018, December 16). ออกแบบชีวิต (Designing Your Life) ด้วย Design Thinking. Retrieved from https://rath.asia/2017/02/designing-your-life-with-design-thinking/