MBTI คืออะไร รู้จักความหมายและใช้ค้นหาอาชีพที่ใช่ไปพร้อมกัน !

MBTI-Cover

เวลาที่เราใช้มือหยิบจับสิ่งของต่าง ๆ เรามักเลือกใช้มือข้างที่ถนัดก่อนโดยไม่รู้ตัว จนถึงกับไม่ได้ใส่ใจใช้งานข้างที่ไม่ถนัดมากนัก หากเพื่อน ๆ ลองสังเกตดูดี ๆ แขนข้างที่ถนัดของเราอาจมีอาการตึงมากกว่า มีกล้ามเนื้อที่ใหญ่กว่า และอาจมีขนาดที่ใหญ่กว่าอีกข้างก็ได้นะ...เอ๊ะ ว่าแต่เรื่องมือข้างที่ถนัด-ไม่ถนัด มันเกี่ยวกับ MBTI ตรงไหนละเนี่ย

งั้นมาทำความรู้จัก MBTI กันเลย

 

MBTI คืออะไร

 

MBTI หมายถึง ศาสตร์ที่มุ่งเน้นให้ตัวเราเข้าใจตัวเองและผู้อื่น จากประเภทของบุคลิกภาพที่ต่างกัน ด้วยชุดความถนัดของบุคลิกภาพ 4 ชุด ได้แก่

  1. ความถนัดด้านการได้รับพลังงาน แบ่งออกเป็น 2 แบบได้แก่ ความถนัดจากการรับพลังงานจากโลกภายนอก (ใช้ตัวย่อ E ย่อมาจาก Extraverting) และความถนัดจากการรับพลังงานจากโลกภายใน (ใช้ตัวย่อ I ย่อมาจาก Introverting)
  2. ความถนัดด้านการรับรู้สิ่งต่าง ๆ แบ่งออกเป็น 2 แบบได้แก่ ความถนัดด้านการรับรู้จากประสาทสัมผัสทั้งห้า (ใช้ตัวย่อ S ย่อมาจาก Sensing) และความถนัดในการมองความเป็นไปได้ในอนาคต (ใช้ตัวย่อ N ย่อมาจาก Intuiting) 
  3. ความถนัดด้านการตัดสินใจ แบ่งออกเป็น 2 แบบได้แก่ ความถนัดด้านการใช้ตรรกะและการคิดวิเคราะห์ (ใช้ตัวย่อ T ย่อมาจาก Thinking) และความถนัดในการตัดสินใจโดยใช้ค่านิยมส่วนตัวและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อผู้อื่น (ใช้ตัวย่อ F ย่อมาจาก Feeling)
  4. ความถนัดด้านไลฟ์สไตล์ แบ่งออกเป็น 2 แบบได้แก่ ความถนัดด้านการตัดสินใจและการทำสิ่งต่าง ๆ ให้เสร็จสิ้นลง (ใช้ตัวย่อ J ย่อมาจาก Judging) และความถนัดด้านเฟ้นหาทางเลือก (ใช้ตัวย่อ P ย่อมาจาก Perceiving)

 

ถ้าให้พูดง่าย ๆ ความถนัดทั้ง 4 ชุดนี้ ก็เหมือนกับมือทั้งสองข้างของเรานี่แหละ แม้ว่าเราจะมีทั้งคู่อยู่กับตัว แต่ก็ใช่ว่าจะใช้ได้ดีเท่ากัน บางคนถนัดใช้ประสาทสัมผัส (Sensing) เหมือนกับที่ถนัดขวา แต่อาจไม่ถนัดการมองภาพในอนาคต (Intuiting) มากนัก ก็เหมือนกับมือซ้ายที่หยิบจับอะไรก็ไม่ถนัด แต่ถ้าไม่มีเลย ก็ใช้ชีวิตยากขึ้นเป็นกอง

ดังนั้น การวัดความถนัด 4 ชุดนี้ ไม่ใช่การวัดที่ได้ผลลัพธ์เป็นใช่หรือไม่ใช่ ไม่มีขาวหรือดำ และไม่มีถูกหรือผิด แต่เป็นการวัดในแบบสเกล ซึ่งก็ถือเป็นธรรมชาติปกติของมนุษย์ทุกคนนั่นเอง

 

ความถนัดชุดที่ 1 Extraverting VS Introverting

ใคร ๆ ก็มักมองว่าคนเป็น Extravert นั้นต้องร่าเริงแจ่มใส ชอบพบปะผู้คน มีงานโรงเรียนทีไรเสนอตัวช่วยตลอด แล้วก็มักจะเป็นเด็กกิจกรรมที่เป็นจุดเด่นของห้องอยู่เสมอ ในขณะที่คนที่เป็น Introvert จะดูหงอย ๆ ไม่ค่อยชอบพูดชอบคุย เก็บตัว ดูมีภาพลักษณ์เป็นเด็กเรียนเด็กเนิร์ด แม้ว่าการตัดสินจากบุคลิกภาพแบบนี้อาจไม่ใช่เรื่องผิด แต่ก็ไม่ได้ถูกทั้งหมด ดังนั้น เราจึงชวนเพื่อน ๆ มาสะท้อนตัวตนของตัวเอง ด้วยคำถามปลายเปิดด้านล่างนี้เลย ลองเขียนคำตอบลงในกระดาษดูนะ

คำถาม : ต้องล็อกดาวน์ในช่วงโควิด 19 ระบาดแบบนี้ เพื่อน ๆ รู้สึกยังไงกันบ้าง

เขียนคำตอบเรียบร้อยแล้ว ลองมาเช็กดูดีกว่า ว่าเพื่อน ๆ เป็นแบบไหนมากกว่ากันระหว่าง

A) ดีจัง จะได้นอนเยอะ ๆ ให้หายเหนื่อยจากการเรียน คอยดูนะจะนอนตื่นสาย ๆ เลย แต่เอ...นอนนาน ๆ ก็เบื่อเหมือนกันนะ อ่านการ์ตูนกับเล่นเกมก็แล้วแต่ก็ยังเบื่ออยู่เลยอ่ะ งั้น Video Call หายายจุ๊บจิ๊บหน่อยดีกว่า จะมานั่งพิมพ์คุยเรื่องรายงานกันมันไม่ใช่อ่ะ มันต้องเห็นหน้ากันนิดนึงอ่ะ อยากออกไปตีแบด ไปชอปปิงสติกเกอร์วง BTS ที่ร้านแถวสยามกับเพื่อน ๆ หรือขอแค่ไปเดินวัตสันหน้าปากซอยก็ยังดี คิดถึงแม่ค้าขายยำแถวนั้นด้วยอ่ะ คือไม่เคยคุยกับนางจริงจังหรอก แต่ฟังนางนินทาสามีที่บ้านแล้วสดชื่นดี

และ

B) จริงๆ แล้วเรียนออนไลน์นี่ก็น่าเบื่อเหมือนกันนะ ขี้เกียจเปิดกล้องให้คนอื่นมาดูอ่ะ ให้ไปโรงเรียนนั่งมุมเงียบ ๆ ของเรายังดีกว่า แต่อย่างน้อย...ได้อยู่บ้านก็ทำให้ได้นอนฟังเพลงได้เยอะขึ้น  คนจะได้ไม่หาว่าเราเอาแต่ใส่หูฟังเตรียมซ้อมร้องเพลงประกวดงานโรงเรียนตลอดเวลา ได้มีเวลาออกกำลังกายด้วย จะได้มีหุ่นแซบ ๆ (ซึ่งก็ไม่ได้คิดจะเอาให้ใครดูหรอกนะ ของดูกล้ามท้องตัวเองในกระจกก็พอ)  

 

ถ้าเพื่อน ๆ เลือก A) เพื่อน ๆ มีแนวโน้มจะมีความถนัดแบบ Extraverting สังเกตได้จากการต้องการรับพลังงานจากโลกภายนอก ทั้งการ Video Call หาเพื่อน การออกไปเห็นสีสันและความคึกคักที่สยาม หรือแม้แต่การฟังแม่ค้าขายยำพูดเรื่อยเปื่อย (แม้ว่าตัวเองจะไม่ได้พูดด้วยเลยก็ตาม) ต่างก็ช่วยชาร์จพลังงานได้ทั้งนั้น...คนที่เลือก A) ขอให้เขียนตัว E ตัวใหญ่ ๆ ลงไปในกระดาษได้เลย

แต่ถ้าเพื่อน ๆ เลือก B) เพื่อน ๆ มีแนวโน้มที่จะมีความถนัดแบบ Introverting สังเกตได้จากการโฟกัสอยู่ที่ตัวเอง ยิ่งได้อยู่กับโลกภายในของตัวเองมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นมุมเงียบ ๆ ที่โรงเรียน ได้ใส่หูฟังฟังเพลงแล้วคิดใคร่ครวญอยู่คนเดียว หรือแม้แต่การออกกำลังกาย ก็ถือเป็นการชาร์จพลังจากโลกภายในของตัวเองได้เช่นกัน...คนที่เลือก B) ขอให้เขียนตัว I ตัวใหญ่ ๆ ลงไปในกระดาษได้เลย

 

และหากเพื่อน ๆ สังเกตดี ๆ จะเห็นว่าคนที่ถนัดแบบ Extraverting ไม่ได้หมายความว่าต้องพูดคุยอยู่ตลอดเวลา ในบางโอกาสก็ต้องการการพักผ่อนนอนหลับเช่นเดียวกัน ในขณะที่คนที่ถนัดแบบ Introverting ก็ไม่ใช่คนขี้อาย แต่ก็สามารถซ้อมร้องเพลงเพื่อประกวดงานโรงเรียนได้ เพียงแต่เป้าหมายอาจจะไม่ใช่เพื่อการเป็นจุดสนใจ แต่เป็นเพียงสิ่งที่ชอบเท่านั้น

 

ความถนัดชุดที่ 2 Sensing VS Intuiting

ความถนัดชุดนี้อาจดูสับสน และแยกออกจากกันยากหน่อย แต่ไม่ต้องห่วง เรามาทดสอบง่าย ๆ ด้วยรูปภาพจากภาพยนตร์เรื่อง Amelie ด้านล่าง หลังจากนั้นให้จดสิ่งที่เราเห็นจากภาพลงในกระดาษ

Amelie-MBTI-Test

จากนั้นลองมาเช็กคำตอบกันดูว่าเพื่อน ๆ เลือกตอบแบบไหนมากกว่ากัน ระหว่าง

A) โคมไฟสีฟ้าเด่นมากกกกก เอ...ตัวหนังสือในกระดาษมันอ่านว่าอะไรนะ บนโต๊ะมีกระดาษ 4 แผ่น มีกาว UHU ผู้หญิงถือกรรไกรด้วย เอ๊ะ ๆ มีเทปกาวด้วยนี่นา

และ

B) เดี๋ยวผู้หญิงคนนี้จะต้องตัดกระดาษแน่นอน มีแผนทำอะไรบางอย่างหรือเปล่านะ สีหน้านางดูมุ่งมั่นแปลก ๆ ประหลาด ๆ แต่ไม่ได้ไปในทางร้าย แต่ถ้าฉันเป็นผู้หญิงคนนี้ นี่ต้องเป็นนิยายแย่ ๆ จนฉันอยากตัดทิ้งแน่ ๆ ส่วนโทนของภาพก็ดูตื่นเต้น ลุ้นดีอยู่เหมือนกัน

 

หากเพื่อน ๆ เลือก A) เพราะมองรายละเอียดปลีกย่อยของรูปภาพก่อนเป็นอันดับแรก ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ต่าง ๆ หรือสี มีแนวโน้มว่าเพื่อน ๆ จะมีความถนัดแบบ Sensing คือการรับข้อมูลผ่านประสาทสัมผัสทั้งห้า ซึ่งเป็นข้อมูลที่อยู่ในโลกของความจริง มองเห็น ได้ยิน ลิ้มรส สัมผัส และดมได้ จึงมักสนใจสิ่งที่เป็นรูปธรรมอย่างเหตุการณ์ปัจจุบัน สภาพอากาศ ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในแต่ละวัน แฟชั่น อาหาร เป็นต้น เรียกว่าชอบอะไรตรงไปตรงมาไม่อ้อมค้อม เพื่อน ๆ ที่เลือกข้อนี้ ให้เขียนตัวอักษร S ต่อท้ายตัว E หรือ I ที่เขียนไว้ก่อนหน้านี้ได้เลย

แต่หากเพื่อน ๆ เลือก B) มีแนวโน้มว่าเพื่อน ๆ จะมีความถนัดแบบ Intuiting ที่ใส่ใจเรื่องความเชื่อมโยงสิ่งต่าง ๆ เข้าด้วยกัน จริงๆ แล้วเพื่อน ๆ ก็เห็น กรรไกร กระดาษ กาวแบบเพื่อน ๆ กลุ่ม Sensing นั่นแหละ แต่จะมีความสามารถในการคาดการณ์ล่วงหน้าหรือตีความว่าผู้หญิงในภาพมีจุดประสงค์หรือมีความหมายแฝงอะไร รวมไปถึงสังเกตสีหน้าท่าทางของผู้หญิงในภาพด้วย อาจเรียกได้ว่า เป็นการอ่านความหมายที่ซ่อนอยู่ในรูปภาพก็ได้ หรืออาจเป็นการคิดไปไกลกว่าสิ่งที่รูปภาพบอก เพื่อน ๆ คนไหนที่เลือกข้อนี้ ให้เขียนตัวอักษร N ต่อท้ายตัว E หรือ I ที่เขียนไว้ก่อนหน้านี้ได้เลย

 

อย่างไรก็ตาม ทั้งคนที่มีความถนัดแบบ Sensing และ Intuiting ต่างก็มีจุดอ่อนด้วยกันทั้งคู่ ไม่มีใครเก่งกว่าใคร กลุ่ม Sensing อาจละเลยความหมายแฝงจนทำให้พลาดโอกาสบางอย่าง หรือตกที่นั่งลำบากจากการไม่ได้สนใจสัญชาตญานของตัวเองก็ได้ รวมไปถึงอาจใส่ใจรายละเอียดมากเกินไปจนเกินพอดี เช่น เลือกพิมพ์งานใหม่ทั้งเล่ม เพราะหัวข้อในหน้าที่ 4 ไม่ได้เป็นตัวอักษรหนาเหมือนหน้าอื่น ๆ เป็นต้น ส่วนกลุ่ม Intuiting อาจใช้ความถนัดด้านการตีความและมองภาพรวมจนกลายเป็นการคิดเองเออเองได้ รวมถึงอาจกลายเป็นคนฝันกลางวัน จนไม่ลงมือทำอะไรสักอย่างด้วย

นอกจากนั้น การค้นหาตัวเองสำหรับความถนัดคู่นี้ ยังต้องใช้เวลาและการสังเกตทั้งพฤติกรรมและแรงจูงใจของตัวเองเป็นระยะเวลานาน แถมผู้ที่มีความถนัดแบบ Intuiting ยังมีสัดส่วนที่น้อยกว่าผู้ที่มีความถนัดแบบ Sensing เป็นอย่างมาก (ในสหรัฐอเมริกา มีผู้ที่ถนัดแบบ Sensing ถึง 65-70%) จึงทำให้ผู้ที่ถนัดด้าน Intuiting ถูกกล่อมเกลาแกมบังคับจากสังคมโดยรวมให้ใช้ความถนัดแบบ Sensing บ่อย ๆ อีกด้วย ดังนั้น ภาพเพียงแค่ภาพเดียวอาจบอกไม่ได้ว่าเพื่อน ๆ ถนัดแบบไหน จึงควรเริ่มสังเกตตัวเองกันตั้งแต่วันนี้ จะได้ค้นหาอาชีพที่ใช่และเหมาะกับตัวเองได้ไวขึ้นไงล่ะ

 

ความถนัดชุดที่ 3 Thinking VS Feeling

ความถนัดชุดนี้ค่อนข้างแยกได้ไม่ยากนัก ซึ่งเราจะวัดด้วยคำถามปลายเปิดอีกเช่นเคย เตรียมกระดาษกับปากกาให้พร้อม

คำถาม : หากมีมหาวิทยาลัย 2 แห่งรับเพื่อน ๆ เข้าเรียน เพื่อน ๆ จะใช้เกณฑ์อะไรบ้างในการตัดสินใจเลือก

เมื่อตอบเรียบร้อยแล้ว มาเช็กดูกันว่า เพื่อน ๆ เป็นแบบไหนมากกว่ากันระหว่าง

A) ต้องดูข้อดีและข้อเสียของแต่ละมหาวิทยาลัยก่อนเลย เดี๋ยวจะลองเช็ก Ranking ว่าที่ไหนลำดับสูงกว่า นอกจากนั้นต้องดูราคาหอพักที่อยู่ใกล้ ๆ ด้วยนะ ต้องหาข้อมูลแต่ละด้านให้ละเอียด ๆ เลย

และ

B) ต้องลองคาดการณ์ดูว่าที่ไหนกันนะที่เหมาะกับเรา ถ้ามหาวิทยาลัยอบอุ่นเหมือนครอบครัวแล้วก็มีกิจกรรมนอกห้องเรียนสนุก ๆ แล้วสิ่งแวดล้อมหรือเพื่อน ๆ ร่วมมหาวิทยาลัยก็สำคัญเหมือนกันนะ อยากได้เพื่อนน่ารัก ๆ สนิทสนมกัน หรือไม่ก็เพื่อนลุย ๆ ไปด้วยกันเลย

 

หากเพื่อน ๆ เลือก A) มีแนวโน้มที่เพื่อน ๆ จะใช้ความถนัดแบบ Thinking ซึ่งก็คือการใช้ตรรกะและการคิดวิเคราะห์ โดยใช้ความรู้สึกส่วนตัวให้น้อยที่สุด สังเกตได้จากการประเมินมหาวิทยาลัยด้วยข้อดีข้อเสีย แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า เพื่อน ๆ เป็นคนเย็นชาไร้ความรู้สึกนะ (อกหักก็เสียใจอยู่...ฮือ) เพื่อน ๆ แค่มองว่า การใช้อารมณ์ความรู้สึก มาตัดสินใจทำอะไรสักอย่าง น่าเชื่อถือน้อยกว่าการใช้ตรรกะเท่านั้นเอง เพื่อน ๆ ที่เลือกข้อนี้ เขียนตัวอักษร T ตามหลังตัวอักษรที่เขียนไว้ก่อนหน้านี้ได้เลย

แต่ถ้าเพื่อน ๆ เลือก B) มีแนวโน้มที่เพื่อน ๆ จะใช้ความถนัดแบบ Feeling ซึ่งไม่ได้หมายถึงคนที่ใช้อารมณ์ตลอดเวลา หรือทำอะไรตามใจตัวเองแบบโนสนโนแคร์ แต่เพื่อน ๆ แค่ใช้ค่านิยมส่วนตัวในการตัดสินใจเลือก ไม่ว่าจะเป็นความเหมาะสมกับนิสัย หรือสิ่งแวดล้อมที่ตนเองชอบ เพื่อน ๆ ที่เลือกข้อนี้ เขียนตัวอักษร F ตามหลังตัวอักษรที่เขียนไว้ก่อนหน้านี้ได้เลย

 

อย่างไรก็ตาม ตามค่านิยมที่มีมาทุกยุคทุกสมัย เรามักมองกันว่าผู้ชายนั้นคิดในเชิงตรรกะเก่งกว่า ส่วนผู้หญิงใช้อารมณ์ความรู้สึกมากกว่า ดังนั้นหนุ่ม ๆ ที่มีความถนัดในแบบ Feeling (ซึ่งตามสถิติแล้วมีจำนวนน้อยกว่าหนุ่ม ๆ แบบ Thinking มาก) อาจถูกมองว่าเหยาะแหยะ ไม่เข้มแข็ง ในขณะที่สาว ๆ ที่มีความถนัดแบบ Thinking อาจถูกมองว่าก้าวร้าว ไม่น่ารัก (ซึ่งตามสถิติแล้วมีจำนวนน้อยกว่าสาว ๆ แบบ Feeling มาก) ทำให้ในบางครั้งคนกลุ่มที่ถือว่าเป็นส่วนน้อยนี้ ต้องพยายามปรับตัวให้เป็นไปตามมาตรฐานคนทั่วไป จนบางครั้งอาจหลงลืมไปว่าตัวเองถนัดแบบไหนกันแน่

 

ความถนัดชุดที่ 4 Judging VS Perceiving

สำหรับความถนัดชุดสุดท้ายนี้ เราติดว่าเพื่อน ๆ น่าจะตอบกันได้ง่าย เพราะเกี่ยวข้องกับการส่งรายงานให้คุณครู ซึ่งเป็นสิ่งที่เพื่อน ๆ ต้องทำกันบ่อย ๆ อยู่แล้ว แถมคราวนี้เป็นคำถามปลายปิด ไม่ต้องมานั่งเขียนด้วย

คำถาม : ถ้าคุณครูสั่งรายงานชิ้นหนึ่งที่ใช้เวลาทำ 1 วันเต็ม เพื่อให้เพื่อน ๆ ทำในช่วงวันหยุดยาว 3 วัน เพื่อน ๆ จะเลือกทำตั้งแต่ วันหยุดวันแรก วันหยุดวันที่ 2 หรือวันหยุดวันสุดท้าย (และเพื่อน ๆ มีรายงานวิชาเดียวนะ ไม่มีวิชาอื่น ๆ เลย)

 

หากเพื่อน ๆ เลือก

A) ลุยทำงานตั้งแต่วันแรก หรือวันที่สอง เพื่อน ๆ มีแนวโน้มที่จะมีความถนัดแบบ Judging ซึ่งมักทำสิ่งต่าง ๆ ให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว และมักจะรู้สึกสบายใจเมื่อได้ตัดสินใจไปแล้ว คนที่มีความถนัดแบบนี้มักไม่ชอบอะไรคาราคาซัง และคงไม่สามารถสบายใจ ลอยชายไปมาอยู่ได้ถ้างานที่รับผิดชอบยังไม่เสร็จเสียที นอกจากนั้นยังชอบคำตอบที่ชัดเจน ไม่คลุมเครือ ถ้าคนกลุ่มนี้เจอคนที่แอบชอบมาให้ความหวังแบบลม ๆ แล้ง ๆ แต่ไม่ยอมตัดสินใจคบกันเสียที คนกลุ่มนี้จะผลักดันจนได้คำตอบ จะคบหรือไม่คบก็บอกมา ! ซึ่งบางครั้งก็ถูกมองว่าเป็นคนเคร่งครัด ไม่ยืดหยุ่น และน่าเบื่อเอามาก ๆ เลยล่ะ ถ้าเพื่อน ๆ คิดว่าตัวเองเป็นคนกลุ่มนี้ ให้เติมตัวอักษร J ลงไปเป็นตัวสุดท้ายได้เลย

B) แหม...อย่าเครียดเลยน่า ทำวันสุดท้ายก็ได้ เพื่อน ๆ ที่มักทำงานใกล้ Deadline มีแนวโน้มที่จะมีความถนัดแบบ Perceiving แต่ไม่ใช่ว่าเพื่อน ๆ เป็นคนไม่เอาการเอางานนะ หลาย ๆ คนมาอ่านหนังสือเอาวันสุดท้าย แต่ได้คะแนนมากกว่าคนที่อ่านมานานก็มี การที่เพื่อน ๆ มาทำงานเอาวันท้าย ๆ อาจเกิดจากการที่เพื่อน ๆ ชอบเปิดรับทางเลือกหลาย ๆ ทางก่อนมากกว่า เช่น อาจค่อยดูท่าทีว่ายัยหมิวเพื่อนร่วมห้องที่เป็นคนโปรดครูทำไปกี่หน้า จะได้ทำพอ ๆ กัน เป็นต้น ซึ่งในบางครั้ง ลักษณะนิสัยนี้อาจทำให้เพื่อน ๆ พลาดอะไรไปบ่อย ๆ เพราะสายเกินกำหนดไปแล้ว ถ้าเพื่อน ๆ คิดว่าตัวเองเป็นคนกลุ่มนี้ ให้เติมตัวอักษร P ลงไปเป็นตัวสุดท้ายได้เลย

 

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าคนที่มีความถนัดแบบ Judging เป็นคนหุนหันพลันแล่น และรีบตัดสินใจเพื่อให้งานเสร็จสิ้นอยู่ตลอดเวลา คนกลุ่มนี้อาจใช้การคาดการณ์ถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต หรือรวบรวมผลดีผลเสียสักระยะเวลาหนึ่งก่อนตัดสินใจก็ได้ สิ่งสำคัญที่จะบอกเพื่อน ๆ ได้ว่าเพื่อน ๆ เป็นคนกลุ่มนี้ คือความรู้สึกโล่ง เมื่อได้ตัดสินใจหรือทำอะไรเสร็จสิ้นไปแล้วนั่นเอง ในขณะที่เพื่อน ๆ กลุ่ม Perceiving อาจรู้สึกสบายใจมากกว่าที่ได้มีทางเลือกต่าง ๆ อยู่กับตัวโดยที่ไม่ได้ถูกกดดันให้รีบตัดสินใจ แต่เมื่อถึงเวลาที่ต้อง “เลือก” เพื่อน ๆ กลุ่มนี้ก็สามารถเลือกได้อย่างสบายใจเช่นกัน

นอกจากนั้น  ในแต่ละพื้นที่ทั่วโลก ต่างก็ให้ความสำคัญกับความถนัดคู่นี้ต่างกัน อย่างเช่นญี่ปุ่นหรือสหรัฐอเมริกา อาจให้ความสำคัญกับความถนัดแบบ Judging มากกว่า เพราะให้ความสำคัญกับการตรงต่อเวลาและความรับผิดชอบต่อสิ่งต่าง ๆ ในขณะที่ประเทศในแถบละตินอเมริกากลับมองว่าผู้ที่มีความถนัดแบบ Judging นั้นตึงเครียดเกินไป

เอาล่ะ มาสรุปกันดีกว่าว่ารหัสตัวอักษรทั้งหมดมีอะไรกันบ้าง เพื่อน ๆ สามารถอ่านลักษณะของแต่ละรหัสได้ตามลิงก์ด้านล่าง หรือจะทำแบบทดสอบ MBTI ด้วยก็ได้นะ แต่เพื่อน ๆ ต้องไม่หลอกตัวเองตอนตอบเด็ดขาด ! และอาจมีบางข้อที่ตอบยากหน่อยเพราะอาจรู้สึกว่าทั้ง 2 ตัวเลือกใกล้เคียงกับตัวเอง

MBTI-นักวิเคราะห์

 
กลุ่มนักวิเคราะห์ (มีความถนัดแบบ N และ T)
ENTJ ผู้บัญชาการ ENTP นักโต้วาที
INTJ นักออกแบบ INTP นักตรรกะ

 

ENTJ : ผู้บัญชาการ >> ทักษะการสื่อสารดี มีพลังงานและประสิทธิภาพ สามารถวิเคราะห์สิ่งที่เป็นนามธรรมได้เป็นอย่างดี เก่งด้านการวางแผน เป็นผู้นำที่ถนัดทั้งบู๊และบุ๋น แต่อาจมั่นใจในตัวเองจนเกินไป จนไม่ยอมเปลี่ยนแปลงตัวเอง และอาจจะเกรี้ยวกราดใส่คุณได้

ENTP : นักโต้วาที >> ฉลาดเฉลียวและมีวิสัยทัศน์ คิดและตัดสินใจได้รวดเร็ว มักตั้งคำถามและชอบการโต้แย้ง จากนั้นนำข้อมูลที่ได้มาพัฒนาสิ่งที่มีอยู่แล้วให้ดีขึ้น แต่อาจขี้เบื่อ และด้วยความที่ชอบการโต้แย้งและการเอาชนะ จึงอาจทำร้ายความรู้สึกผู้อื่นโดยไม่ตั้งใจ

INTJ : นักออกแบบ >> สนใจใคร่รู้ เด็ดขาด มักมีกลยุทธ์หรือแผนการ (รวมถึงแผนสำรอง) อยู่ในหัวเสมอ เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายสูงสุดได้ มีความอดทนสูง แต่มักเก็บงำความรู้สึกและเรื่องต่าง ๆ ตัดสินคนอื่น และหยิ่งยโส ตัวร้ายในหนังและวรรณกรรมมักมีบุคลิกประเภทนี้

INTP : นักตรรกะ >> ช่างคิด มีความคิดสร้างสรรค์ มองเห็นภาพรวมของสิ่งที่เกิดขึ้นและมักแสวงหาทางออกของแก้ปัญหาได้ไม่เหมือนใคร พัฒนาตัวเองอยู่เสมอ แต่อาจจิตใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัว ไม่สามารถอธิบายความคิดตนเองให้คนอื่นฟังได้ และไม่อดทนต่ออารมณ์ความรู้สึกต่าง ๆ

 

MBTI-นักการทูต

 

กลุ่มนักการทูต (มีความถนัดแบบ N และ F)
ENFJ ตัวเอก ENFP นักรณรงค์
INFJ ผู้แนะนำ INFP ผู้ไกล่เกลี่ย

 

ENFJ : ผู้นำ >> เป็นผู้นำที่มีเสน่ห์ เห็นอกเห็นใจผู้อื่น และสามารถถ่ายทอดความรู้สึกของตัวเองออกมาได้ดี เป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้อื่นพัฒนาตัวเองได้เป็นอย่างดี แต่อาจไว้วางใจคนอื่นมากเกินไป ไม่สามารถแยกแยะระหว่างความรู้สึกและปัญหาที่เกิดขึ้นจริงได้

ENFP : นักรณรงค์ >> เก่งด้านปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น จินตนาการสูง และเปิดกว้างพร้อมรับความคิดใหม่ ๆ อยู่เสมอ มีอิสระและเป็นตัวของตัวเอง เก่งด้านการมองหาความหมายที่ซ่อนอยู่ แต่อาจอารมณ์ขึ้นลงได้ง่าย เครียดง่าย อาจทำเรื่องง่ายให้เป็นเรื่องยากได้

INFJ : ผู้แนะนำ >> มีอุดมคติที่มาพร้อมกับความมุ่งมั่นที่จะทำให้เป็นจริง เก่งในการเข้าถึงหัวใจของปัญหา สุขุมนุ่มลึกและอ่อนโยนแต่ก็จริงใจและตรงไปตรงมา แต่อาจหลงลืมตัวเอง ก้าวเลยขีดจำกัดของตัวเองมากเกินไป และไม่สามารถยอมรับความไม่สมบูรณ์แบบได้

INFP : ผู้ไกล่เกลี่ย >> มองโลกในแง่ดี สื่อสารกับผู้อื่นได้อย่างถ่องแท้ เป็นคนที่ผู้คนมักอยากอยู่ใกล้เพราะรู้จักเสียสละ อีกทั้งยังประสานความขัดแย้งได้อย่างยอดเยี่ยม แต่อาจสูญเสียตัวตนได้ง่าย ชอบเก็บเรื่องต่าง ๆ มาคิดมาก โทษตัวเอง และโลกสวยจนเกินไป

 

MBTI-ผู้เฝ้ายาม

กลุ่มผู้เฝ้ายาม (มีความถนัดแบบ S และ J)
ISTJ นักคำนวณ ESTJ ผู้บริหาร
ESFJ ผู้ให้คำปรึกษา ISFJ ผู้ตั้งรับ

 

ESTJ : ผู้บริหาร >> เป็นผู้นำที่สามารถนำพาทุกคนผ่านสถานการณ์ที่ยากลำบากได้ ทุ่มเทและซื่อสัตย์ จัดวางระบบได้ดี ทำงานอย่างหนักเพื่อผู้อื่นอยู่เสมอ แต่อาจยึดติดกับความคิดของตัวเอง ไม่ชอบความเปลี่ยนแปลง และให้ความสำคัญกับสถานะทางสังคมมากเกินไป

ESFJ : ผู้ให้คำแนะนำ >> เป็นนักปฏิบัติที่ยินดีช่วยเหลือผู้อื่นอยู่เสมอ เห็นประโยชน์ส่วนรวมเป็นสำคัญ มีจริยธรรมแต่ก็เป็นกันเอง พร้อมแก้ปัญหาด้วยความอบอุ่นและเข้าใจ แต่อาจเจ็บปวดเมื่อไม่มีคนเห็นค่าในสิ่งที่ตัวเองทำ และอาจสนใจความรู้สึกคนอื่นจนหลงลืมตัวเอง

ISTJ : นักคำนวณ >> ซื่อสัตย์และเป็นที่พึ่งพาได้ มีความรับผิดชอบ เฉียบแหลมและทำงานอย่างเป็นระบบระเบียบ จึงถนัดการตรวจสอบสิ่งผิดปกติต่าง ๆ และเป็นตัวของตัวเองสูง แต่อาจประสบปัญหาในการแสดงออกทางอารมณ์หรือความรัก ดื้อรั้น และไม่กล้าออกนอกกรอบ

ISFJ : ผู้ตั้งรับ >> มีเมตตาแต่ก็สามารถปกป้องครอบครัวและเพื่อนฝูงได้ และแม้จะชอบความมั่นคงแต่ก็เปิดกว้างและยอมรับความเปลี่ยนแปลง จึงสามารถเข้าสังคมได้ดีและไว้ใจได้ แต่มักไม่กล้าปฏิเสธ ไม่ให้ความสำคัญกับตัวเอง และอาจดื้อเงียบ

 

MBTI-นักสำรวจ

กลุ่มนักสำรวจ (มีความถนัดแบบ S และ P)
ESTP ผู้ประกอบการ ESFP ผู้มอบความบันเทิง
ISTP ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะ ISFP นักผจญภัย

 

ESTP : มีอารมณ์ขัน เป็นศูนย์กลางของความสนใจ อยู่กับปัจจุบัน แม้จะกระตือร้อล้นและก็สงบนิ่งเมื่ออยู่ท่ามกลางความวุ่นวาย ไม่มีอคติจึงสามารถสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ รอบตัวได้ถูกต้องแม่นยำ แต่อาจชอบเสี่ยงมากเกินไป และแหกกฎเกณฑ์อยู่บ่อยครั้ง

ESFP : ผู้มอบความบันเทิง >> สนุกสนานเป็นกันเอง มีทักษะทางสังคมสูง มีรสนิยมแต่ก็มีความสุขได้ง่าย มักเป็นคนแรกที่เข้าไปช่วยปลอบใจผู้ที่มีปัญหา และให้คำแนะนำที่ปฏิบัติตามได้จริง แต่กลับหนีปัญหาเมื่อเป็นเรื่องของตัวเอง อาจละเลยหน้าที่และความรับผิดชอบ

ISTP : ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะ >> เป็นนักลงมือปฏิบัติ และเรียนรู้จากสิ่งแวดล้อมได้ดี สงสัยใคร่รู้และช่างสังเกต ยุติธรรม จัดลำดับความสำคัญและแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ดี แต่อาจเป็นคนตลกร้าย ไม่ชอบการผูกมัดและกฎระเบียบ และคาดเดาพฤติกรรมได้ยาก

ISFP : นักผจญภัย >> ปรับตัวเข้ากับสถานการณ์และสภาพแวดล้อมได้ดี กระตือรือล้น ช่างสังเกตและไวต่อความรู้สึก มีเสน่ห์ เห็นคุณค่าของความสัมพันธ์ แต่อาจละเลยการวางแผนเพื่ออนาคต ขาดความมั่นใจหรือไม่ก็เอาตัวเองเป็นศูนย์กลางไปเลย

ก่อนที่เพื่อน ๆ จะไปค้นหาอาชีพที่ใช่ คณะที่ชอบ ด้วยรหัสอุปนิสัย MBTI เราแนะนำให้เพื่อน ๆ อ่านคำเตือนด้านล่างนี้ก่อน !

คำเตือน โปรดใช้ MBTI ด้วยความเข้าใจ

  1. MBTI (รวมไปถึงแบบทดสอบอุปนิสัยที่มีพื้นฐานจากวิชาจิตวิทยาต่าง ๆ ทั่วโลก) ไม่ใช่การทายอุปนิสัยตามวันเกิด ราศี หรือปีเกิด จึงย่อมมีความแตกต่างจากโหราศาสตร์ที่เป็นความเชื่อ อีกทั้งยังมีความยืดหยุ่นกว่า ตามระดับความเข้มข้นของความถนัด
  2. แม้ผลสรุปของการทำแบบทดสอบจะออกมาเป็นประเภทใหญ่ ๆ 16 แบบ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า ในโลกนี้มีคนแค่ 16 ประเภท แม้ว่าเพื่อน ๆ จะได้รหัสอุปนิสัยเป็น ENFP เหมือนกับเพื่อนอีกคน แต่ไม่ได้หมายความว่าทั้งสองคนเหมือนกันเป๊ะ อย่าลืมว่าตัวของเพื่อน ๆ เอง อาจมีความถนัดแบบ Extravert ในระดับที่เข้มข้นกว่า และอาจมีความถนัดแบบ Perceiving เจือจางกว่าเพื่อนอีกคนก็ได้ ดังนั้น มนุษย์ 100 คน แบ่งออกเป็นมนุษย์ 100 แบบ ไม่ได้แบ่งออกเป็น 16 แบบเท่านั้น
  3. ไม่มีความถนัดด้านใดที่ดีที่สุด ความถนัดแต่ละด้านมีทั้งข้อดีและข้อเสีย แม้เราจะถนัดด้านใดด้านหนึ่งมากกว่า แต่ไม่ได้หมายความว่าเราไม่เคยใช้ความถนัดอีกฝั่งเลย มีคนจำนวนมากที่ถนัดทั้งสองด้านใกล้เคียงกันในระดับ 51% กับ 49% (ผู้เขียนเองมีความถนัดด้าน Thinking และ Feeling ในลักษณะนี้) จนแทบไม่ได้สังเกตว่าตัวเองถนัดด้านใดด้านหนึ่งเลยก็ได้
  4. อย่าใช้รหัสอุปนิสัยที่เราได้มาในการจำกัดตัวเอง เช่น เมื่อรู้ว่าตัวเองมีความถนัดด้าน Introverting ก็ล้มเลิกความตั้งใจที่จะเป็นนักแสดง เพราะมองว่าอาชีพนักแสดงน่าจะเหมาะกับคนที่ถนัดด้าน Extraverting มากกว่า และไม่ควรใช้ชื่อเรียกภาษาไทยของรหัสต่าง ๆ มาเป็นตัวกำหนดเช่นกัน (ผู้ที่มีรหัสอุปนิสัย ISTP จำนวนมาก ไม่เก่งวิชาศิลปะ และไม่ชอบวาดรูป)  นอกจากนั้น ไม่ควรใช้ความรู้ในด้าน MBTI มาตัดสินพฤติกรรมและจับผิดคนอื่น เพื่อน ๆ ควรใช้เพื่อเข้าใจตนเองและผู้อื่นมากกว่า

 

ค้นหาอาชีพที่ใช่ กับ MBTI กันเลย

เพื่อน ๆ คงสงสัยแล้วใช่มั้ยล่ะ ว่าอาชีพที่เหมาะกับรหัสต่าง ๆ มีอะไรบ้าง คำตอบของเราก็คือ…

ไม่ว่าเพื่อน ๆ จะมีรหัส MBTI แบบไหน เพื่อน ๆ ก็สามารถทำได้ทุกอาชีพนั่นแหละ ! อ่านมาถึงตรงนี้เพื่อน ๆ อ่านรู้สึกว่าโดนหักหลัง นี่มันอิหยังกันเนี่ย

แต่เราขอบอกว่าความถนัดต่าง ๆ ไม่ได้บอกความสามารถ ทักษะ และความฉลาด เพียงแต่บอกว่าเราชอบทำอะไรแบบไหนมากกว่ากัน ยกตัวอย่างเช่น เพื่อน ๆ ที่เป็น ISFJ อาจเป็นนางพยาบาลที่เข้าอกเข้าใจ (เพราะมีความถนัดด้าน Feeling) และพร้อมช่วยเหลือผู้ป่วยอย่างสุดความสามารถ (เพราะมีความถนัดแบบ Judging)  แต่เพื่อน ๆ ที่เป็น INTJ อาจเป็นนางพยาบาลที่สามารถออกแบบระบบเข้าเวรของตนเองและเพื่อนร่วมงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีประโยชน์ต่อผู้ป่วยได้ เพราะมีความถนัดแบบ Intuiting และ Thinking ควบคู่กัน เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม หากเพื่อน ๆ อยากจะค้นหาอาชีพหรือคณะที่ใช่จากรหัสอุปนิสัย MBTI จริง ๆ ก็พอจะดูจากสภาพแวดล้อมกว้าง ๆ ได้ เช่น  คนที่มีความถนัดแบบ Extraverting  อาจชอบบรรยากาศที่ตื่นตัว มีผู้คนมากมาย ชอบทำกิจกรรมหรือรายงานเป็นทีม ชอบอยู่เบื้องหน้ามากกว่าเบื้องหลัง และยังชอบเป็นผู้นำ ตรงกันข้ามกับ Introverting ที่ชอบทำรายงานอย่างอิสระในสภาวะเงียบ ๆ จดจ่อได้นาน แต่มักไม่อาสาเป็นผู้นำเอง แต่ผลสำรวจกลับออกมาว่า ผู้นำที่ทรงอิทธิพลระดับโลกกลับมีสัดส่วนเป็นผู้ถนัดแบบ Introverting มากกว่า Extraverting เล็กน้อย เห็นไหมว่า รหัสอุปนิสัย ไม่ได้มีผลกับอาชีพ และการประสบความสำเร็จของคนเราขนาดนั้น เพียงแต่การรู้จักตนเองอย่างดี ย่อมทำให้เราใช้ด้านที่ถนัดได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด รู้จักพัฒนาด้านที่ไม่ถนัด และใช้ทั้งสองด้านอย่างระมัดระวังเท่านั้นเอง

รู้จักความถนัดของตัวเองดีแล้ว อย่าลืมมาเรียนแบบที่ถนัดกับ StartDee ไม่ว่าจะเป็นแก๊ง Extravert ที่ชอบวิดีโอคอลเรียนกับเพื่อน หรือ Introvert ที่เรียนเงียบ ๆ คนเดียว หรือจะเรียนแบบข้ามไปวิชานู้น สลับกับวิชานี้สไตล์ชาว Perceiver หรือเรียนวิชาเดียว เร็ว ๆ เอาให้จบไว ๆ อย่างคน Judger ก็ใช้ StartDee ได้ ไปตำกันที่แบนเนอร์ด้านล่างได้เลย

banner-standard-orange

 

แบบทดสอบในบทความนี้ดัดแปลงจาก Single Being PODCASTS EP. 36 แก้ปัญหาใจด้วยรหัสอุปนิสัย MBTI โดยแพทย์หญิงธิดากานต์ รุจิพัฒนกุล และนพ.สุกมล วิภาวีพลกุล

Reference : 

เรนนี บารอน. Opposites Attract ปรับให้คลิก คู่ต่างขั้ว อย่าปล่อยให้ความต่างพรากเราจากกัน. แปลโดย วาจาสิทธิ์ ลอเสรีวานิช. กรุงเทพฯ : มูลนิธิโกมลคีมทอง. 2561

 

แสดงความคิดเห็น