แม้ลูกเรืออวดดีมีทิฐิ | และเริ่มริเฉโกยุ่งโยเส |
เมื่อคลื่นลมแรงจัดซัดโซเซ | เรือจะเหล่มระยำคว่ำไป |
หากเพื่อน ๆ ได้อ่านบทเรียนวิชาภาษาไทยเรื่อง บทเสภาสามัคคีเสวก แล้ว หลายคนคงรู้สึกคุ้น ๆ กับการเปรียบเทียบประเทศชาติว่าเป็นเรือลำหนึ่ง เปรียบเทียบว่าอุปสรรคเป็นพายุแน่ ๆ นี่คือหนึ่งในตัวอย่างของการใช้อุปลักษณ์ หรือ Metaphor เข้ามาสื่อสารและทำให้ผู้อ่านเห็นภาพมากขึ้น แต่จริง ๆ แล้ว Metaphor คืออะไร มีบทบาทยังไงบ้างกับการสื่อสารในชีวิตประจำวัน วันนี้ StartDee จะพาเพื่อน ๆ ไปทำความรู้จักโวหารภาพพจน์ชนิดนี้กันให้ดียิ่งขึ้น
Metaphor และการอุปลักษณ์
นอกจาก กวีโวหาร ที่ช่วยให้การใช้ภาษาดูสละสลวย การใช้โวหารภาพพจน์ก็เป็นกลวิธีหนึ่งที่เราพบได้อยู่เสมอในการสื่อสารรูปแบบต่าง ๆ โวหารภาพพจน์ที่เราควรรู้จักมีอยู่หลายชนิดด้วยกัน ยกตัวอย่างเช่น บุคคลวัต (Personification) อติพจน์ (Hyperbole) ปฏิพากย์ (Paradox) สัญลักษณ์ (Symbol) นามนัย (Metonymy) สัทพจน์ (Onomatopoeia) อุปมา (Simile) และอุปลักษณ์ (Metaphor) ซึ่งการใช้อุปลักษณ์ในการสื่อสารเป็นประเด็นที่เราจะพูดถึงกันในวันนี้
การอุปลักษณ์ (Metaphor) เป็นการใช้โวหารภาพพจน์ที่ช่วยอธิบายให้ผู้รับสารเห็นภาพสิ่งของหรือการกระทำชัดเจนมากขึ้นโดยการนำสองสิ่งที่มีคุณสมบัติร่วมกันบางอย่างมาเปรียบเทียบกัน อาจใช้คำว่า “เป็น” “คือ” “เท่า” เข้ามาช่วยหรือไม่ก็ได้ แต่หลักการสำคัญของการอุปลักษณ์ก็คือ การยกสิ่งที่นำมาเปรียบเทียบ “แทนที่” สิ่งที่ต้องการกล่าวถึงไปเลย ยกตัวอย่างเช่นการอุปลักษณ์ในกาพย์ยานี ๑๑ จากวรรณคดีไทยเรื่อง คัมภีร์ฉันทศาสตร์ แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ บทนี้
ดวงจิตคือกระษัตริย์ | ผ่านสมบัติอันโอฬาร์ |
ข้าศึกคือโรคา | เกิดเข่นฆ่าในกายเรา |
เปรียบแพทย์คือทหาร | อันชำนาญรู้ลำเนา |
ข้าศึกมาอย่างใจเบา | ห้อมล้อมรอบทุกทิศา |
ในคัมภีร์ฉันทศาสตร์ แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ ผู้แต่งเปรียบเทียบร่างกายว่าเป็นเมือง โดยใช้คำว่า “กายนคร” ซึ่งเป็นการอุปลักษณ์แบบไม่มีคำเชื่อม ส่วนกลอนบทที่เรายกมาให้เพื่อน ๆ ดูก็มีการใช้โวหารภาพพจน์แบบอุปลักษณ์หลายจุด เช่น เปรียบเทียบหัวใจว่าเป็นกษัตริย์ ซึ่งหัวใจและกษัตริย์มีจุดร่วมที่เหมือนกันอยู่คือเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด นอกจากนี้ยังมีการเปรียบโรคภัยต่าง ๆ เป็นข้าศึกศัตรู เปรียบเทียบหมอผู้รักษาโรคว่าเป็นทหารที่รู้จักร่างกายเป็นอย่างดีและต้องรับหน้าที่ต่อสู้กับโรคร้าย ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้ผู้อ่านเห็นภาพและจินตนาการบทบาทของหมอ โรคต่าง ๆ และร่างกายที่ซับซ้อนได้ดียิ่งขึ้น
ต่อมาลองไปดูตัวอย่างการใช้ Metaphor ในประโยคนี้กัน
Life is a rollercoaster.
ชีวิตก็เหมือนกับโรลเลอร์โคสเตอร์
ตัวอย่างนี้เราเปรียบเทียบว่าชีวิตก็เหมือนกับโรลเลอร์โคสเตอร์ซึ่งเป็นเครื่องเล่นหวาดเสียวในสวนสนุก ถ้าได้ลองเล่นโรลเลอร์โคสเตอร์ที่วิ่งขึ้นวิ่งลงไปตามรางก็จะรู้สึกตื่นเต้นสุด ๆ ดังนั้น การเปรียบว่าชีวิตก็เหมือนโรลเลอร์โคสเตอร์เป็นการอุปลักษณ์ที่ดีมาก ๆ เพราะในประโยคเดียว ผู้เขียนได้สื่อว่า “ชีวิตก็มีขึ้นมีลง” ตามใจความหลักที่ต้องการจะสื่อ แถมยังได้สื่อสารความรู้สึกตื่นเต้น ความรวดเร็ว ความลุ้นระทึกของชีวิตด้วยการ Metaphor กับโรลเลอร์โคสเตอร์ด้วย หากลองคิดตามแบบละเอียดเพื่อน ๆ จะเห็นว่าการใช้โวหารภาพพจน์แบบอุปลักษณ์มีความลึกซึ้งกว่าการอุปมา เพราะช่วยเติมเต็มมิติด้านอารมณ์และการกระทำด้วยสิ่งที่นำมาเปรียบเทียบ ทำให้ผู้อ่านเห็นภาพตามได้ง่ายดายมากขึ้น และจากจุดนี้เองทำให้การใช้ Metaphor ถูกใช้ในการสื่อสารที่หลากหลาย ไม่ได้จำกัดอยู่ในวงการวรรณกรรมเท่านั้น
Metaphor ในชีวิตประจำวัน
ตัวอย่างการใช้ Metaphor ในชีวิตประจำวันนั้นมีเยอะมาก ๆ นอกจากวรรณคดีไทยนระดับมัธยมที่เรายกตัวอย่างให้เพื่อน ๆ ได้ดูกันไปแล้ว ในวงการเพลง ภาพยนตร์ โฆษณาและการทำการตลาดก็มีการใช้ Metaphor เข้ามาช่วยในการสื่อสารเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น ในแอนิเมชันเรื่อง Inside Out ที่มีการใช้ตัวละคร Joy, Fear, Anger, Disgust และ Sadness แทนอารมณ์ต่าง ๆ ของไรลีย์ เด็กหญิงเจ้าของร่างกาย นอกจากนี้ยังมีศูนย์บัญชาการที่ทำหน้าที่เป็นสมอง คอยให้คำแนะนำไรลีย์ในการตัดสินใจและการแสดงอารมณ์ต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน
Inside Out ขอบคุณรูปภาพจาก disney
ส่วนวงการเพลงป๊อปก็ไม่น้อยหน้า มีการใช้ Metaphor มาช่วยในการสร้างสรรค์ผลงานเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่นผลงานเพลงของ Taylor Swift ศิลปินหญิงมากความสามารถชาวอเมริกัน ในเพลง Delicate ก็มีท่อนนึงที่กล่าวว่า
You’re a mansion with a view.
คุณคือแมนชั่นที่มาพร้อมกับวิว
ถ้าแปลแบบตรงตัวรับรองว่า “งง” แน่ ๆ แต่จากเนื้อเพลงท่อนนี้เทย์เลอร์ได้เปรียบเทียบชายหนุ่มที่เธอหลงรักว่าเป็น “แมนชั่น” ที่อยู่อาศัยที่มาพร้อมกับ “วิวทิวทัศน์อันสวยงาม” เพื่อสื่อว่าผู้ชายคนนี้เนี่ยดูดีทั้งภายในและภายนอก เหมือนกับห้องพักสวย ๆ มี่มีวิวดี ๆ นอกหน้าต่าง มองทางไหนก็ดูดีไปซะหมด เรียกว่าใช้คำน้อยแต่สื่อสารได้มากจริง ๆ เป็นการใช้ Metaphor ที่ชาญฉลาดเอามาก ๆ เลย
ยิ่งกว่าการใช้ภาษาให้ดูสละสลวยและเห็นภาพ สื่อสารน้อยแต่ได้ผลลัพธ์มาก การใช้ Metaphor ยังแสดงให้เห็นความสามารถด้านการสื่อสารในระดับที่แอดวานซ์มากยิ่งขึ้นด้วย ถือว่าเป็นอีกหนึ่งเทคนิคการใช้ภาษาดี ๆ ที่เราอยากให้ทุกคนลองนำไปใช้กันมาก ๆ แต่ถ้าเพื่อน ๆ คนไหนอยากศึกษาเทคนิคการใช้โวหารภาพพจน์อื่น ๆ ก็ลองดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน StartDee แล้วไปพบกับครูหนึ่งในบทเรียนวิชาภาษาไทย เรื่องการใช้โวหารภาพพจน์ประกอบการเขียนได้เลย
Reference:
https://andrewdebell.com/metaphors-pop-songs/