Soft Power คืออะไร รู้จักอิทธิพลทางความคิดที่ขับเคลื่อนสังคมได้แบบซอฟต์ ๆ

soft-power-คือ-อะไร

ถึง Tokyo Olympic 2021 จะจบลงไปแล้ว แต่หลาย ๆ คนยังคงประทับใจการแสดงในพิธีอยู่ เพราะความใส่ใจในรายละเอียดและดีเทลเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ผสมผสานความเป็นญี่ปุ่นและวัฒนธรรมร่วมสมัยไว้อย่างน่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นการแสดง Pictogram สัญลักษณ์กีฬาที่ได้กลิ่นอาย ‘เกมซ่าท้ากึ๋น’ รายการเกมโชว์ประชันความสามารถชื่อดังของญี่ปุ่น แอนิเมชันโปรโมตที่ทำให้นึกถึง Studio Ghibli ไหนจะการออกแบบคบเพลิงที่เลือกดอกซากุระมาใส่เป็นรายละเอียด การผสมผสานองค์ประกอบของเกมออนไลน์ชื่อดังอย่าง Final Fantasy ลงในขบวนพาเหรด สิ่งเหล่านี้ทำให้ผู้ชมมองแวบเดียวก็ร้องอ๋อ แถมยังสื่อถึงความเป็นญี่ปุ่นได้ดีสุด ๆ จนหลายคนตั้งข้อสังเกตขึ้นมาว่า การที่ ‘วัฒนธรรมร่วมสมัย’ ของญี่ปุ่นสามารถมีอิทธิพลกับการยอมรับในระดับนานาชาติขนาดนี้ ถือว่าเป็นการใช้ Soft Power ที่ประสบความสำเร็จมาก ๆ เลยหรือเปล่า แล้ว Soft Power คืออะไรกันล่ะ ทำไมถึงทำให้ผู้คน ‘รู้สึกอิน’ ได้ในวงกว้างขนาดนี้ 

วันนี้ StartDee จะพาไปหาคำตอบ

pictogramภาพการแสดง pictogram ในพิธีเปิด Tokyo Olympic 2020 Cr. olympics.com

 

 

Soft Power คืออะไร ?

หากพูดถึงพลัง อำนาจ หรือ Power หลายคนอาจนึกถึงการออกคำสั่งโดยใช้อำนาจบังคับขู่เข็ญ (Hard Power) การใช้กำลังทหาร หรือการใช้ทรัพยากรที่จับต้องได้มาสร้างอำนาจให้กับตนเอง แต่สำหรับอำนาจอ่อนหรือซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) นั้นแตกต่างออกไป โดยโจเซฟ เนย์ (Joseph S. Nye) นักรัฐศาสตร์ชาวอเมริกันได้จำแนกซอฟต์พาวเวอร์เป็นสามส่วนหลัก ๆ ได้แก่ วัฒนธรรม ค่านิยมทางการเมือง และนโยบายการต่างประเทศ

หากนิยามแบบกว้าง ๆ ซอฟต์พาวเวอร์ก็คืออำนาจโดยปราศจากกำลังทางทหาร (Non-military power) ไม่ว่าจะเป็นอำนาจทางวัฒนธรรม ความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ แต่หากนิยามความหมายให้แคบลง ซอฟต์พาวเวอร์คืออิทธิพลทางวัฒนธรรมที่ส่งผลต่อพฤติกรรม ความนิยมชมชอบ มุมมอง แนวคิดของผู้คน และมีส่วนดึงดูดให้ผู้คนเหล่านั้นรู้สึกมีส่วนร่วมกับวัฒนธรรมของอีกประเทศหนึ่งได้ ซึ่งแต่ละประเทศก็จะมีซอฟต์พาวเวอร์ที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง ยกตัวอย่างเช่นเกาหลีที่มีอุตสาหกรรมเคป๊อป (K-Pop) ภาพยนตร์ และซีรีส์ที่โดดเด่นจนสร้างกระแส ‘Korean wave’ ขึ้นมาได้ ญี่ปุ่นที่มีความโดดเด่นในเรื่องแอนิเมชัน รายการทีวี ภาพยนตร์ เพลงป๊อบ และแฟชั่น

แต่กว่าจะเป็นวัฒนธรรมที่ทรงอิทธิพลและเป็นที่รู้จักในระดับโลก และกลายเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่ทำให้ผู้คนมากมายประทับใจใน Tokyo Olympic 2021 การส่งเสริมการด้านการใช้สื่อและวัฒนธรรมของญี่ปุ่นในฐานะ ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ นั้นได้รับการส่งเสริมจากรัฐบาลและอีกหลาย ๆ องค์กร ไปดูกันดีกว่าว่าญี่ปุ่นทำอย่างไรถึงส่งอิทธิพลทางวัฒนธรรมได้ในวงกว้างขนาดนี้



ญี่ปุ่น Cool Japan และนโนยายแบบใช้ ‘ไม้อ่อน’

ทั้งกิโมโนรูปแบบต่าง ๆ ชาเขียวมัทฉะ พิธีการชงชา ละครคาบูกิ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่น ในช่วงปี 1920-1930 ญี่ปุ่นได้เริ่มเผยแพร่วัฒนธรรมประจำชาติแบบดั้งเดิมผ่านสื่อต่าง ๆ การจัดโครงการแลกเปลี่ยน และการสอนภาษา แต่หลังจากที่ญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศผู้แพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ภาพลักษณ์ของญี่ปุ่นในมุมมองของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกก็เปลี่ยนไป

aya-salman-Japanese-cultural

Photo by Aya Salman on Unsplash

 

รัฐบาลของญี่ปุ่นเห็นว่าภาพลักษณ์ของประเทศเป็นสิ่งสำคัญ จึงออกนโยบายเพื่อจัดการเรื่องนี้อย่างจริงจังโดยเลือกใช้ ‘ไม้อ่อน’ อย่างซอฟต์พาวเวอร์ (แม้ในขณะนั้นจะยังไม่มีการเสนอแนวคิดเกี่ยวกับซอฟต์พาวเวอร์ขึ้นมาอย่างจริงจังก็ตาม) ในปี 1988 รัฐบาลญี่ปุ่นจึงเริ่มมีการส่งออกรายการทีวี อุตสาหกรรมสื่อ และความบันเทิงอย่างแอนิเมชัน หนังสือการ์ตูน เพลงป๊อบ และไอดอลสู่ประเทศในเอเชียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเลือกนำเสนอวิถีชีวิตแบบคนญี่ปุ่นและภาพความเป็นญี่ปุ่นในแบบใหม่ ๆ เมื่อความบันเทิงและวัฒนธรรมจากญี่ปุ่นกลายเป็นที่ยอมรับในเอเชียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก้าวต่อไปก็คือ ‘Cool Japan’ ซึ่งเป็นนโยบายที่ส่งเสริมให้วัฒนธรรมญี่ปุ่นแพร่หลายมากขึ้นในยุโรปและตะวันตก นอกจากจะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจ การใช้สื่อและการเผยแพร่วัฒนธรรมของญี่ปุ่นได้สร้างภาพจำของประเทศในแง่มุมใหม่ที่ดียิ่งขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อน รวมถึงสร้างอำนาจในการต่อรองและการเจรจาระหว่างประเทศ จนกระทั่งในปี 1990 ที่ซอฟต์พาวเวอร์ถูกพูดถึงในวงกว้าง หลาย ๆ ประเทศจึงเริ่มสนใจและให้ความสำคัญกับการส่งเสริมวัฒนธรรมและอุตสาหกรรมครีเอทีฟในประเทศของตนมากขึ้น

agathe-marty-japanese-contemporary-cultural

Photo by Agathe Marty on Unsplash

 

เบื้องหลังวัฒนธรรมญี่ปุ่นที่แพร่หลายจึงมีนโยบายและการสนับสนุนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์จากภาครัฐเป็นส่วนผลักดันที่สำคัญ ฟังแล้วดูน่าสนใจมาก ๆ เลยเนอะ แต่จะบอกว่าประเทศไทยก็เคยมีการพูดถึงซอฟต์พาวเวอร์ การส่งออกวัฒนธรรมสร้างสรรค์ต่าง ๆ และมีความหวังที่จะผลักดันอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไปรันวงการระดับโลกอยู่เหมือนกันนะ (แม้จะยังเติบโตได้ไม่เต็มที่เพราะไม่ได้รับการส่งเสริมจากฝ่ายต่าง ๆ เท่าที่ควร) มาลุ้นไปพร้อม ๆ กันดีกว่าว่าหากประเทศไทยเริ่มส่งออกอุตสาหกรรมความบันเทิงและสื่อต่าง ๆ แบบประเทศเพื่อนบ้านบ้างจะเป็นอย่างไร 

 

และถ้าเพื่อน ๆ สนใจอาชีพในอุตสาหกรรมครีเอทีฟ เราแนะนำให้ลองอ่านบทความที่เกี่ยวข้องเหล่านี้:

วอลนัท-สายทิพย์ วิวัฒนปฐพี กับชีวิตฟรีแลนซ์และอาชีพนักลงเสียงโฆษณา

Interview with Timelie พูดคุยเรื่องเกมกับพี่เจมส์จาก Urnique Studio

 

 

Reference:

Pop-culture diplomacy in Japan: soft power, nation branding and the question of ‘international cultural exchange’:

https://www.tandfonline.com/doi/full/10.1080/10286632.2015.1042469?casa_token=5ajYM6xbqT0AAAAA%3AF0q_UUGsk92s_jUodbIcq1_UdoPmhS5jIe6qopdMiRPtK2ZC32_1rF_33fpZMlZozCTQhLF_2NvpanU

How soft power works: https://apps.dtic.mil/sti/pdfs/AD1032656.pdf

ว่ากันรอบที่ร้อยที่พัน : Soft Power ไทยทำยังไงถึงจะไปได้แบบเกาหลี: https://adaymagazine.com/thai-soft-power

แสดงความคิดเห็น