ช่วงนี้คำว่า Soft Skills ได้กลายเป็นคำสุดฮิตที่หลายคนได้ยินกันบ่อย ๆ ซึ่งทักษะเหล่านี้ไม่ได้จำเป็นสำหรับวัยทำงานเพียงอย่างเดียว แต่ยังจำเป็นสำหรับวัยรุ่นวัยเรียนอย่างพวกเราด้วย เพราะการอยู่ในห้องเรียน การออกไปเจอผู้คน สังคมข้างนอก หรือแม้แต่การเตรียมพร้อมสู่ชีวิตในมหาวิทยาลัย Soft Skills ก็เป็นทักษะสำคัญไม่แพ้ทักษะความรู้เฉพาะทางเลยทีเดียว
แม้จะเคยได้ยินบ่อย ๆ และรู้ว่าเป็นทักษะสำคัญ แต่เพื่อน ๆ บางคนอาจจะยังมีคำถามคาใจว่าจริง ๆ แล้วนิยามของ Soft Skills คืออะไร การฝึกฝนทักษะนี้จะซอฟต์สมชื่อหรือเปล่า และจะรู้ได้ไงว่าเรามี Soft Skills ด้านไหน ซึ่งเราได้รวบรวมคำตอบมาไว้ในบทความนี้แล้ว ไปดูกันเลยดีกว่า !
Soft Skills คืออะไร
Soft Skills คือ ทักษะทางอารมณ์ การสร้างความสัมพันธ์ และการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม โดยเป็นทักษะที่ไม่สามารถวัดผลเป็นตัวเลขได้แบบ Hard Skills แต่สามารถนำไปปรับใช้ได้หลายสถานการณ์ เช่น ทักษะการพูด ทักษะการฟัง การทำงานเป็นทีม เป็นต้น ส่วน Hard Skills คือทักษะเฉพาะทางที่ได้มาจากการศึกษา อบรม หรือการเรียนรู้ที่สามารถวัดผลได้ง่ายกว่า เช่น ความรู้ด้านคณิตศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ ภาษาอังกฤษ หรือภาษาที่สาม เป็นต้น ซึ่งเราอาจจะสรุปสั้น ๆ ได้ว่า “Hard Skills คือทักษะด้านความรู้ ส่วน Soft Skills คือทักษะด้านการใช้ชีวิต” นั่นเอง
Soft Skills มีอะไรบ้าง ?
จริง ๆ แล้ว Soft Skills มีเยอะมาก ๆ ถ้าจะลิสต์ออกมาก็คงยาวจนจำไม่ได้เลยล่ะ แต่คุณ Lei Han ผู้เขียนบทความ Soft Skills List – 28 Skills to Working Smart ได้แบ่ง Soft Skills ออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ ให้ดูง่ายขึ้น ซึ่งได้แก่
1. ทักษะการจัดการตัวเอง (Self Management Skills) คือ การจัดการกับอารมณ์และพฤติกรรมต่าง ๆ ของตัวเอง เช่น- ความคิดสร้างสรรค์ (Creative Thinking)
พอพูดถึงความคิดสร้างสรรค์ บางคนอาจจะนึกถึงวิชาศิลปะ หรือการวาดภาพสวย ๆ แต่จริง ๆ แล้วความคิดสร้างสรรค์ คือการคิดแก้ปัญหาด้วยวิธีการใหม่ ๆ หรือคิดเชื่อมโยงจนเกิดไอเดียใหม่ขึ้นมา แม้แต่การแก้โจทย์คณิตศาสตร์ข้อเดิมด้วยวิธีใหม่ ก็นับเป็นความคิดสร้างสรรค์เหมือนกันนะ
**Tips ที่ StartDee อยากแชร์ : ถ้าเพื่อน ๆ ไม่รู้จะฝึกทักษะนี้ยังไง อาจจะเริ่มด้วยการตั้งคำถามกับตัวเองบ่อย ๆ ว่ามีวิธีอื่นอีกไหมที่จะใช้แก้ปัญหานั้น หรือเรามองสิ่งเดิมด้วยมุมมองใหม่ได้ยังไงบ้าง เช่น นอกจากเก้าอี้จะใช้นั่งได้แล้ว เราใช้ทำอะไรได้อีกหรือเปล่า ? ถ้าไม่แก้โจทย์ด้วยวิธีนี้ จะมีวิธีอื่นอีกไหมนะ? เพื่อให้เราได้ฝึกฝนการคิดหาทางใหม่ ๆ จากเรื่องใกล้ตัวเรา
ขอบคุณภาพจาก GIPHY
- การมีทัศนคติที่ดี (Positive Attitude)
ในที่นี้ไม่ใช่มองเฉพาะด้านดีของสิ่งต่าง ๆ แต่เป็นความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ยากลำบากและอุปสรรคต่าง ๆ ด้วยความกระตือรือร้น และเชื่อว่าทุกปัญหามีทางออกเสมอ รวมทั้งความเป็นมิตร เคารพและให้เกียรติผู้อื่น ซึ่งทักษะนี้จะช่วยให้เพื่อน ๆ สามารถก้าวผ่านปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ไปได้ด้วยจิตใจที่เข้มแข็ง
**Tips ที่ StartDee อยากแชร์ : หนึ่งในวิธีการฝึกทักษะนี้ คือ เทคนิคที่เรียกว่า Reframing หรือการปรับมุมคิดให้เรามูฟออนจากความรู้สึกไม่ดี และมีมองมุมใหม่ ๆ ต่อเรื่องเดิม ซึ่งจะมีวิธีการยังไงบ้างนั้น เพื่อน ๆ คลิกเข้าไปอ่านกันต่อได้ในบทความนี้เลย
- การคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking)
พอได้ยินคำว่า ‘การคิดเชิงวิพากษ์’ แล้ว บางคนอาจจะรู้สึกว่าเป็นเรื่องยากและน่าปวดหัว (ซึ่งบางครั้งก็ชวนปวดหัวจริง ๆ) แต่ขอบอกว่าทักษะนี้เป็นทักษะจำเป็นและมีประโยชน์มาก ๆ สำหรับทุกช่วงวัย โดยเฉพาะยุคที่เราอยู่อยู่ท่ามกลางข่าวสารสารพัดบนโลกโซเชียล ซึ่งการคิดเชิงวิพากษ์นี้จะช่วยให้เราไม่ตกเป็นเหยื่อหรือหลงเชื่อข้อมูลที่ไม่ถูกต้องนั่นเอง
**Tips ที่ StartDee อยากแชร์ : เพื่อน ๆ สามารถเริ่มต้นทักษะนี้ได้ด้วยการตั้งคำถามกับสิ่งที่ได้ยินมา และหาคำตอบจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือหลาย ๆ แหล่งเปรียบเทียบกัน และตัดสินใจสิ่งต่าง ๆ โดยมีพื้นฐานมาจากเหตุผลและหลักฐานสนับสนุน
2. ทักษะการอยู่ร่วมกับผู้อื่น (People Skills) คือ ความสัมพันธ์และการทำงานร่วมกับผู้อื่น เช่น
- ทักษะการสื่อสาร (Communication)
ทักษะการสื่อสารไม่ได้หมายถึงการพูดเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการฟัง การอ่าน และการเขียน อย่างการฟังเพื่อจับประเด็นสิ่งที่คนอื่นพูด การเลือกใช้คำพูดที่เหมาะสมเมื่อต้องติดต่อกับคุณครู หรือการแจ้งข่าวสารให้เพื่อน ๆ ในห้องเข้าใจตรงกัน ก็นับเป็นทักษะการสื่อสารเช่นเดียวกัน
**Tips ที่ StartDee อยากแชร์ : วิธีฝึกทักษะการสื่อสารในเชิงความรู้และเทคนิค เราสามารถหาความรู้จากแหล่งต่าง ๆ ได้ไม่ว่าจะเป็นการฟังพอดแคสต์ เรียนออนไลน์ อ่านหนังสือ หรือสังเกตและพูดคุยกับคนที่ถนัดด้านนั้น ๆ จากนั้นจึงหาโอกาสนำเทคนิคที่ได้มาฝึกฝนด้วยตัวเอง เช่น ฟังพอดแคสต์เรื่องการจัดการกับความตื่นเต้น แล้วลองนำไปใช้ก่อนพูดหน้าชั้นเรียน เป็นต้น แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกวิธีที่เราได้ยินมาจะเวิร์กเสมอไป เราเลยต้องอาศัยการลองผิดลองถูก ฝึกฝนซ้ำ ๆ จนกว่าจะเจอเทคนิคหรือวิธีที่เหมาะกับเราจริง ๆ
ขอบคุณภาพจาก GIPHY
- การทำงานเป็นทีม (Teamwork)
ทักษะนี้ คือการทำงานร่วมกับคนอื่นได้อย่างราบรื่น ทั้งตัวงานที่สามารถแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าต่าง ๆ รับผิดชอบหน้าที่ของตัวเอง และรับฟังความคิดเห็นของคนอื่น รวมทั้งความสัมพันธ์กับสมาชิกในกลุ่มที่ไม่เกิดการบาดหมางระหว่างกัน หรือปัญหาความสัมพันธ์ที่ไม่ได้รับการแก้ไข
**Tips ที่ StartDee อยากแชร์ : ฟังจากชื่อแล้วเพื่อน ๆ น่าจะพอนึกภาพออกว่า เราฝึกทักษะนี้ได้โดยการทำงานร่วมกับคนอื่นบ่อย ๆ ทั้งในห้องเรียนและกิจกรรมนอกห้องเรียน แต่สิ่งสำคัญกว่านั้น คือการกลับมาทบทวนถึงปัญหาที่เกิดขึ้นและวิธีการแก้ไข หรือสิ่งที่เราประทับใจและสาเหตุที่เราประทับใจ เพื่อให้รู้ว่าวิธีการหรือการกระทำแบบไหนที่จะทำให้การทำงานร่วมกับคนอื่นราบรื่นทั้งเรื่องงานและความสัมพันธ์
- ความเป็นผู้นำ (Leadership)
ทักษะนี้เป็นเรื่องของการตัดสินใจ การมองเห็นภาพรวมของการทำงาน การประสานงานกับผู้คน อาจจะเป็นคุณครู เพื่อนต่างกลุ่มหรือเพื่อนต่างห้อง รวมทั้งสามารถวางแผนจัดการได้ทั้งเรื่องงานและสมาชิกในกลุ่ม ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นหัวหน้าห้องเท่านั้นที่ต้องมีทักษะนี้ เพราะเพื่อน ๆ ทุกคนสามารถพัฒนาความเป็นผู้นำในตัวเองได้ และยังได้ใช้มากกว่าการเรียนในห้องอีกด้วย
**Tips ที่ StartDee อยากแชร์ : การพัฒนาทักษะความเป็นผู้นำนั้นคล้ายกับการฝึกทักษะการทำงานเป็นทีม แต่สิ่งที่เพิ่มมาคือบทบาทในกลุ่มของเรา ซึ่งเพื่อน ๆ อาจจะลองอาสาเป็นคนรับผิดชอบหน้าที่ใดหน้าที่หนึ่งเป็นหลักเพื่อฝึกทักษะนี้ หรืออาจจะเรียนรู้จากคนที่โดดเด่นเรื่องความเป็นผู้นำทั้งคนที่มีชื่อเสียงและผู้นำในกลุ่มที่เราได้ทำงานด้วย แล้วนำสิ่งที่ได้เรียนรู้มาปรับใช้ในแบบของเราก็ได้นะ
จะรู้ได้ยังไงว่าเรามีหรือไม่มี Soft Skills ด้านไหน ?
เมื่อ Soft Skills เป็นทักษะที่วัดผลได้ยาก เพราะไม่มีข้อสอบหรือผลคะแนนมายืนยันแบบ Hard Skills ทำให้ต้องอาศัยการประเมินจากตัวเองและคนรอบข้าง วันนี้เราเลยนำวิธีที่น่าจะช่วยให้สำรวจ Soft Skills ของตัวเองได้ง่ายขึ้นมาฝากกัน ซึ่งเป็นวิธีที่ปรับมาจาก ‘ทฤษฎีหน้าต่างสี่บ้านของโจฮารี (The Johari Window Model)’ โดยเจ้าหน้าต่างที่ว่านี้ ปกติจะใช้สำหรับการทำความรู้จักตัวเองให้มากขึ้นผ่านการสังเกตตัวเองและรับฟีดแบ็กจากคนอื่น ๆ และมีคอนเซปต์ว่า “เราต้องขยายพื้นที่ของ Open Self มากขึ้น เพื่อให้เราได้เป็นตัวของตัวเองและให้คนอื่น ๆ มองเห็นตัวตนที่เราเป็นจริง ๆ”
เช่นเดียวกันกับ Soft Skills ที่เราต้องลองสังเกตตัวเองว่ามีหรือไม่มีทักษะด้านไหน ขณะเดียวกันก็ต้องหาพื้นที่หรือโอกาสที่จะใช้ทักษะนั้นให้คนอื่น ๆ ได้มองเห็นด้วย เพราะบางทีเรารู้ว่าเรามีทักษะด้านนี้แต่คนอื่น ๆ ไม่รู้ อาจจะทำให้เพื่อน ๆ พลาดโอกาสบางอย่างไป หรือการที่เราไม่รู้ตัวว่ามีทักษะด้านนี้ อาจจะเกิดความไม่มั่นใจ และมองข้ามการพัฒนาทักษะด้านนี้ให้ดียิ่งขึ้น
สำหรับการค้นหา Soft Skills ในตัวเราเอง เพื่อน ๆ สามารถทำได้โดยการสังเกตตัวเอง และถามเพื่อน ๆ ว่าเรามี Soft Skills ด้านไหน (จะดูจากลิสต์ที่เราพูดถึงในหัวข้อที่แล้วก็ได้นะ) จากนั้นลองจดลงในตารางนี้กันได้เลย
Open Self Soft Skills ที่ทุกคนรู้ แฟนคลับรู้ และเรารู้ว่าตัวเองมีทักษะนี้
**ช่องนี้คือทักษะที่เรามีและแสดงออกให้คนอื่น ๆ เห็น เรียกว่าเป็นจุดเด่นของเราที่สามารถต่อยอดให้ดีขึ้นได้อีก |
Blind Self Soft Skills ที่คนอื่นบอกว่าเรามี แต่เราไม่รู้ตัวว่าเรามีทักษะนี้
**ช่องนี้ เป็นทักษะที่คนอื่นเห็นว่าเรามี แต่เราไม่รู้ตัวหรือมองข้ามไป เพื่อน ๆ อาจจะต้องกลับมาทบทวนว่า ทำไมคนอื่น ๆ ถึงมองเห็นทักษะนั้น เผื่อจะช่วยให้จับทางได้ว่าอะไรทำให้เราโดดเด่นเรื่องทักษะด้านนั้น แล้วค่อย ๆ พัฒนาให้ดียิ่งขึ้น (บางทีช่องนี้อาจจะช่วยให้เราเจอตัวเองในมุมใหม่ก็ได้นะ) |
Hidden Self Soft Skills ที่เราคิดว่าเรามี แต่คนอื่นไม่รู้ว่าเรามีทักษะนี้ **ช่องนี้เพื่อน ๆ อาจจะมีทักษะนั้นแต่ยังไม่โดดเด่นมากนัก เลยต้องหาโอกาสหรือพื้นที่ให้ได้แสดงศักยภาพของตัวเองในด้านนั้นมากขึ้น โดยการทำหน้าที่หรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่น การแสดงถึงความคิดสร้างสรรค์ ด้วยการคิดหัวข้อโครงงานเจ๋ง ๆ มาเสนอเพื่อน หรืออาสาเป็นคนทำสไลด์นำเสนองานกลุ่ม เป็นต้น |
Unknown Self Soft Skills ที่เราคิดว่าตัวเองไม่มี และคนอื่นก็มองไม่เห็น **ถ้ามี Soft Skills ที่เราเองก็ไม่เคยพูดถึง เพื่อน ๆ ก็ไม่ได้บอกว่าเรามี เราอาจต้องลองหาข้อมูลเพิ่มเติมว่าทักษะนั้นต้องทำกิจกรรมด้านไหน และฝึกฝนยังไงบ้าง เพื่อเพิ่ม Soft Skills ด้านนั้นให้ตัวเอง |
อย่างที่บอกไปว่า Soft Skills เป็นเรื่องที่วัดผลออกมาเป็นตัวเลขชัดเจนไม่ได้ ดังนั้น ฟีดแบ็กจากเพื่อนหรือคนที่เรามีปฏิสัมพันธ์ด้วยจึงเป็นสิ่งสำคัญ ทำให้ต้องอาศัยการลงมือทำ รับฟีดแบ็ก แล้วนำมาปรับให้ดีขึ้นอยู่เสมอ ซึ่งเราเชื่อว่าเพื่อน ๆ ทุกคนทำได้อยู่แล้ว (ส่งมินิฮาร์ตให้กำลังใจ)
พัฒนาทักษะนอกบทเรียนกันแล้ว เพื่อน ๆ อย่าลืมโหลดแอปพลิเคชัน StartDee มาเสริมความรู้ในบทเรียนให้แน่น หรือจะอ่านบทความเสริมทักษะอื่น ๆ อย่างการเพิ่ม Self-esteem หรือการผูกมิตรให้ได้เพื่อนสนิทใน Blog StartDee ของเรากันต่อก็ได้นะ
Reference
ไกรสิทธิ์, ร. (1970, January 01). ทฤษฎีหน้าต่างโจฮารีกับการสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่น. Retrieved August 07, 2020, from http://paisarnkr.blogspot.com/2018/08/blog-post_13.html
In Communication Models, G. (2014, July 10). The Johari Window Model. Retrieved August 07, 2020, from https://www.communicationtheory.org/the-johari-window-model/
Doyle, A. (n.d.). What Are Soft Skills? Retrieved August 07, 2020, from https://www.thebalancecareers.com/what-are-soft-skills-2060852
Doyle, A. (n.d.). Best Soft Skills to List on a Resume. Retrieved August 07, 2020, from https://www.thebalancecareers.com/list-of-soft-skills-2063770
Han, A. (2017, May 09). Soft Skills List - 28 Skills to Working Smart. Retrieved August 07, 2020, from https://bemycareercoach.com/soft-skills/list-soft-skills.html