เราอาจจะเห็นแค่เบื้องหน้าของ Studygram ที่ดูสวยน่ารัก แต่มันมีเบื้องหลังที่เรายังไม่รู้อีกมาก
“Studygram” แอคเคานต์การอ่านหนังสือที่เพื่อน ๆ สายจดสรุปน่าจะคุ้นเคยกันดี นอกจากการจดโน้ตเป็นระเบียบอ่านง่ายสบายตา ยังมีเทคนิคการอ่านหนังสือมาแชร์บ่อย ๆ เห็นโพสต์ผ่านหน้าฟีดทีไรเป็นต้องคว้าหนังสือมาอ่านแล้วทำสรุปตามตลอด แต่ ๆๆ เบื้องหลังโน้ตสรุปสุดน่ารัก Studygram ยังมีเรื่องราวอีกมากมาย วันนี้เคล็ดลับเรียนดีจาก StartDee เลยอยากพาเพื่อน ๆ ไปพูดคุยกับ “มีน” เจ้าของแอคเคานต์ lawstudenttu ที่จะมาบอกเล่าเรื่องราวหลากหลายแง่มุมของ Studygram ให้เราได้ฟังกัน !
ใครไม่ u, lawstudenttu
(แนะนำตัวกันก่อน) เราชื่อ “มีน” นะ หลายคนก็รู้จักเราจากไอจี lawstudenttu (อ่านว่า law - student - tu) เพิ่งเรียนจบมาหนึ่งปีกับอีกสี่วัน ยังไม่ได้รับปริญญาเลย (หัวเราะ) ตอนนี้ก็กำลังเรียนเนติบัณฑิต* อยู่ ผ่านไปแล้วเทอมนึง เหลืออีกเทอมนึงแต่ติดโควิดแถมเลื่อนสอบด้วย ตอนนี้ก็เลยเป็นเหมือนแก็ปเยียร์ของเราเลย หลัก ๆ ช่วงนี้เราก็อ่านหนังสือรอวันสอบกับทำธุรกิจนิดหน่อย
เราเพิ่งมาสร้างแอคเคานต์ตอนปีสอง ชื่อแอคเคานต์ lawstudenttu ก็มาจากการที่เราเรียนกฎหมายที่คณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ก็เลยใช้คำว่า tu (ย่อมาจาก Thammasat University) เพราะเรายังเรียนอยู่ที่นั่น ตอนนี้เรียนจบมาแล้ว อยากจะเปลี่ยนเป็นชื่ออื่นเหมือนกันแต่ก็กลัวคนหาไม่เจอ
*เนติบัณฑิต: การเรียนเพื่อสอบเอาใบประกาศนียบัตรที่ออกโดยเนติบัณฑิตยสภา เน้นการนำตัวบทกฎหมายและคำพิพากษาของศาลฎีกามาใช้ในการประกอบวิชาชีพด้านกฎหมาย (คล้าย ๆ กับในประกอบวิชาชีพของทนายและผู้พิพากษา) คนส่วนใหญ่มักเรียกสั้น ๆ ว่า “เนติ” หรือ “เน” เราจะอ่านหนังสือเองหรือจะไปเรียนกับเนติบัณฑิตยสภาก็ได้ แต่ต้องสอบให้ผ่าน
จุดเริ่มต้นการทำ Studygram ของมีน
จุดเริ่มต้นคือประมาณช่วงปีสองเทอมสองเราเล่นไอจีหนักมาก ไปเจอคนเกาหลีที่ทำ Studygram แล้วรู้สึกว่ามันน่ารักดี ปกติเราก็ถ่ายสรุปลงเฟซบุ๊กกับอินสตาแกรมเป็นปกติอยู่แล้ว แต่ไม่ได้เปิดแอคเคานต์แยกเฉย ๆ พอเราถ่ายลงเรื่อย ๆ แล้วมันดูเยอะไป เราก็กลัวคนอื่นเขารำคาญ เลยแยกไปเปิดแอคเคานต์สำหรับอ่านหนังสือ ลงสรุปอยู่คนเดียว
ช่วงแรก ๆ จะโพสต์รูปหนังสือเรียนที่ซื้อมาว่าจะอ่านจบวันไหน บางวันก็เป็นเลกเชอร์ในห้องเรียน ตอนเช้าตื่นไปเรียน พออาจารย์ปล่อยเบรกเราก็จะถ่ายรูปลงให้รู้ว่าตอนนี้เรียนเรื่องนี้อยู่นะ แล้วตอนเย็นหลังเลิกเรียนเราก็จะถ่ายอีก เหมือนเป็นกิจวัตรประจำวัน เอาไว้บันทึกว่าช่วงไหนเรียนอะไร ยิ่งช่วงปีสองเนี่ยเราเรียนหนักมาก ประมาณ 7 วิชาได้ เราก็เลยอยากบันทึกไว้ ซึ่งกว่าจะลงตัวก็ลบ ๆ โพสต์ ๆ อยู่นานเหมือนกันกว่าจะเปิดเป็นสาธารณะแบบทุกวันนี้
(นานไหมกว่าจะมีคนมาฟอล) ไม่นานนะ ตอนเราเริ่มทำก็มีคนที่ทำ Studygram พอสมควรแล้ว (แต่ก็ประมาณหลักสิบ) ส่วนใหญ่เป็นรุ่นพี่ในคณะนิติเนี่ยแหละ เราไปฟอลเขาแล้วเขาก็มาฟอลกลับ ด้วยความที่ช่วงนั้นคนไทยยังทำ Studygram ไม่เยอะเท่าไหร่ เราเลยติดตาม Studygram ของชาวต่างชาติ ชาวเกาหลี การจดโน้ตช่วงแรก ๆ ของเราก็จะได้แรงบันดาลใจมาจากคนเกาหลี
เรียนหนักมาก แบ่งเวลามาทำ Studygram ยังไง
จริง ๆ มันไม่ได้ใช้เวลาขนาดนั้น เราใช้เวลาพักเบรกมาถ่ายลงแป๊บเดียว แล้วก็เก็บโทรศัพท์ไปอ่านหนังสือต่อ ใช้เวลาประมาณ 5 นาที ส่วนใหญ่เราจดโน้ตเป็นปกติอยู่แล้วในห้อง ซึ่งกว่าจะจดให้ออกมาดี เป็นระเบียบแบบนี้ก็ใช้เวลานานเหมือนกัน ก็พัฒนามาเรื่อย ๆ ตั้งแต่ปีหนึ่ง
“จดโน้ตดี” สำหรับมีนคือแบบไหน
อันนี้บอกยากเหมือนกัน เราใช้ความรู้สึกส่วนตัวเลย เรามองการจดโน้ตเป็นศิลปะ เหมือนเวลาเรามองภาพวาด เรารู้สึกว่าอันนี้สวยแล้วก็โอเค แต่คนอื่นจะคิดยังไงเราก็ไม่รู้นะ แต่สำหรับเราถ้ารู้สึกว่าเขียนเป็นระเบียบ เขียนตรง ไม่เบี้ยว ไม่เละเทะก็ถือว่าโอเคแล้ว เรื่องสไตล์เราไม่ได้คาดหวังว่าทุกคนจะชอบสรุปเราขนาดนั้น ถ้าเรารู้สึกโอเคก็ลงไปเลย จริง ๆ เราจะจดสไตล์ไหน เขียนเละ เขียนไม่ดียังไงมันก็เรื่องของเรานะ
ทริกการจดโน้ตให้น่ารักแถมใช้อ่านทบทวนได้จริงในแบบของ lawstudenttu
ตอนนี้กับตอนเรียนป.ตรีจะไม่เหมือนกันนะ ตอนป.ตรีเราจะยังไม่มีสไตล์เป็นของตัวเองเท่าไหร่ จะเรียกว่าลอกคนต่างประเทศมาก็ได้ หลัก ๆ ก็คือ
- ใช้ปากกาสีเดียวกันทั้งหมด เราจะมีปากกาที่เป็นสีเดียวกันหลายขนาดทั้งหัวใหญ่ - เล็ก ก็จดด้วยปากกาสีเดียวเลยทั้งหัวข้อใหญ่ หัวข้อย่อย
- ช่วงนั้นเรารู้สึกว่าคนส่วนใหญ่ยังใช้ดินสอ ปากกาน้ำเงิน หรือไม่ก็ปากกาหลากสีในการจด แต่เราใช้แค่ปากกาสีดำอย่างเดียว อาจจะใช้สีอื่นบ้างตรงหัวข้อ
- เราชอบเขียนคำว่า Ep.1 ตัวใหญ่ ๆ แล้วก็ตกแต่งตรงนั้นให้สวย จะได้จำได้ว่าเราจะเริ่มบทใหม่แล้วนะ ก็จะได้มีกำลังใจ
- ใช้ Post it ตามสีของหัวข้อให้สีไปด้วยกันทั้งบท แล้วพอเปลี่ยนบทใหม่ก็จะเปลี่ยนสีใหม่
- ตอนจดเราจะใช้แค่ปากกาดำ แล้วค่อยใช้ปากกาสีอื่น ๆ มาเติมทีหลังเวลาเรามาอ่านเพิ่มแล้วรู้สึกว่าในเลกเชอร์มันยังไม่ครบ
พอตอนนี้ก็เปลี่ยนแนวไปอีก เพราะเนื้อหาของเนติเราเคยเรียนไปหมดแล้ว มันเลยต่างจากตอนป.ตรีที่เราเริ่มจากศูนย์ เราไม่รู้อะไรเลยก็จะต้องมานั่งเขียนเนื้อหาทั้งหมด แต่ตอนนี้เราจะจดแต่สิ่งที่สำคัญใส่แฟ้มที่คล้าย ๆ อัลบั้มรูป (อัลบั้มรูปแบบที่สมัยก่อนเขาใช้ใส่รูปหลังจากล้างฟิล์ม) เราก็จะจดเรื่องที่ไม่ค่อยแม่นใส่กระดาษเล็ก ๆ ไว้แล้วก็จะเก็บไว้ในอัลบั้มนี้ แยกเป็นเรื่อง ๆ ไป เอาไว้กลับมาเปิดดู แล้วก็เวลาเรียนเนติมันจะมีประมวลกฎหมายที่เล่มหนามาก ซึ่งตอนป.ตรีเราจะไม่ค่อยรู้เรื่อง ก็จะจดทุกอย่างที่จดได้ในนั้นเลย จนโพสต์-อิทแปะยังไงก็ไม่พอ แต่ตอนนี้เราจะเลือกจดแค่จุดที่ไม่มีในนั้น
เทคนิคการเตรียมตัวสำหรับน้อง ๆ วัยมัธยม
เด็ก ๆ มัธยมก็จะเป็นอีกแบบนึง ถ้าเป็นสอบเก็บคะแนน สอบมิดเทอม - ไฟนอล เราจะเขียนออกมาก่อนว่าเรามีวิชาไหนบ้าง วิชานี้มีสัดส่วนการเก็บคะแนนยังไง สอบยังไงเน้นทำงานส่งให้ครบ ถ้าสำหรับช่วงสอบเราแนะนำอีกเทคนิคนึง คือเราจะมีสมุดสำหรับเขียน Check list หัวข้อทั้งหมดออกมา แล้วก่อนสอบก็จะมานั่งคิดตามว่าหัวข้อนี้เรารู้อะไรบ้าง ถ้าเรื่องไหนเราเข้าใจก็ติ๊กถูกไป แต่ถ้าตรงไหนเรายังไม่แม่น แบบไม่มีอะไรในหัวเลยเราก็จะกลับไปอ่านตรงนั้นซ้ำ เทคนิคนี้เราใช้บ่อยตอนเรียนป.ตรี บางเรื่องเห็นแค่คีย์เวิร์ดเล็ก ๆ เราก็มีไอเดียแล้ว เนื้อหามันเยอะมาก ถ้าให้อ่านหมดเราน่าจะตายเลย แล้วเวลาอยู่ในห้องสอบเราต้องนึกแต่คีย์เวิร์ดแล้วไปขยายเอาเอง เราก็เลยจำแต่คีย์เวิร์ด แล้วก็คำสั้น ๆ ไปคิดต่อเอง แต่วิธีนี้อาจจะใช้กับบางคณะหรือบางวิชาไม่ได้
ส่วนการเตรียมตัวสอบเข้า น้องต้องรู้ก่อนว่าน้องจะสอบเข้าคณะอะไร (สำหรับคนที่มีคณะเป้าหมายชัดเจนก่อนนะ เพราะคนที่มีหลายเป้าหมายจะลำบากเลยแหละ โดยเฉพาะน้อง ๆ ที่อยากได้ทั้งคณะสายวิทย์และสายศิลป์เนี่ยจะยิ่งยาก) น้องควรจะหาก่อนว่าตัวเองอยากจะเข้าคณะไหน ถ้ามีคณะในใจหลายคณะจริง ๆ ก็ควรเป็นคณะที่ใช้คะแนนกลุ่มเดียวกัน จะทำให้เราอ่านหนังสือเบาลงได้ (กรณีที่เราไม่ได้เทพมากนะ ถ้าเทพมากอาจจะเตรียมหลายวิชาไปพร้อมกันได้) ก็เลือก Pat ที่เราต้องใช้ว่ามีตัวไหนบ้าง แล้วก็เลือกโฟกัสเฉพาะตัวที่เราต้องใช้ แล้วก็ลองไปหาหนังสือตามรีวิวมาอ่าน แล้วจากนั้นค่อยลองทำข้อสอบ
ตอนแรก ๆ มันอาจจะรู้สึกช้า ๆ อืด ๆ หน่อย ก็ต้องใช้ความอดทน ซึ่งตรงนี้เราว่าการทำ Studygram มันมีส่วนช่วยอยู่เหมือนกัน คือเวลาเราอ่านแล้วอัปรูปเราก็ควรมีพัฒนาการให้คนอื่นเห็น ไม่ใช่ว่าอ่านแล้วหาย เพราะบางทีเราอ่านคนเดียวก็จะแอบขี้โกง พอคิดว่ามีคนดูอยู่ก็จะขยัน
ก็เป็นเทคนิคเตรียมตัวสอบคร่าว ๆ แต่แนะนำว่าการทำข้อสอบเก่าจะช่วยได้มาก พอเราทำข้อสอบเก่าเราจะเริ่มรู้ว่าไม่ต้องอ่านทั้งหมดก็ได้ เราอาจจะแนะนำได้ไม่ค่อยดีเท่าไหร่เพราะเรารับตรง ไม่ได้สอบ Pat ก็จะเน้นเขียนเรียงความ ย่อความ ก็ค่อนข้างจะเฉพาะทางกว่า แต่ข้อดีก็คือเราจะไม่ต้องอ่านอะไรที่เราไม่จำเป็นต้องใช้
แนะนำ Starter pack สำหรับน้อง ๆ ที่อยากเข้าวงการ Studygram
แค่สมุดกับปากกาก็พอแล้ว
จากที่ไปส่องฟีดแบ็กมา หลายคนอาจคิดว่าจะต้องมีโต๊ะดี ๆ หรือเปล่า ต้องมีไอแพด มีของตกแต่งครบ ๆ ไหม เราจะบอกว่าโต๊ะโล่ง ๆ ไม่มีอะไรก็ทำสรุปลง Studygram ได้นะ หลายคนอาจติดภาพว่าทำ Studygram โต๊ะต้องมินิมอล ต้องสวย แต่ความเป็นจริงแล้วสิ่งแวดล้อมในบ้านทุกคนไม่เหมือนกัน ถึงจะเป็นบ้านทรงสี่เหลี่ยมเหมือนกันแต่สภาพแสง ผ้าม่าน ความทึบความโปร่ง สีห้อง อุณหภูมิมันก็ไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นการจะถ่ายรูปออกมาแล้วจะให้เหมือนกันมันยากมาก ถึงจะใช้ฟิลเตอร์เดียวกันก็เถอะ เพราะเราเองก็ย้ายที่อ่านหนังสือบ่อย ก็จะสังเกตได้เหมือนกันว่าถ่ายรูปออกมาแล้วมันไม่แตกต่างกัน
ถ้ากังวลเรื่องโต๊ะไม่สวยแล้วอยากทำ Studygram คนที่ถ่ายรูปแบบไม่เห็นโต๊ะก็มีนะ ถ้าย้อนไปดูช่วงแรก ๆ ที่เราทำเราก็ถ่ายให้เห็นแค่หนังสือ ช่วงหลัง ๆ ที่เราย้ายไปหอเลยลองถ่ายให้เห็นโต๊ะแล้วมันออกมาสวยดีก็เลยลง แค่นั้นเอง โต๊ะไม่ต้องสวย ของไม่ต้องครบก็ทำได้ ปากกาอะไรก็ใช้ได้ถ้าเรารู้สึกโอเคกับมัน แต่สิ่งที่ควรมีก็เป็นสมุดกับปากกานี่แหละ บางคนมีแค่คอมพิวเตอร์ พิมพ์สรุปแล้วอัปว่าทำถึงหน้านี้ ๆ แล้วก็มี เราว่าจริง ๆ แล้วไม่เกี่ยวกับอุปกรณ์เลย
เราเองก็ไม่ได้สร้างโต๊ะแบบนี้มาภายในวันเดียว เก็บสะสมมาประมาณ 3 - 4 ปี ของที่เราใช้ส่วนใหญ่เราจะซื้อทีละชิ้น ก็จะมีของอยู่ 2 ประเภท คือซื้อมาใช้แล้วหมดไป เช่น พวกปากกา กับของที่ซื้อครั้งเดียวแล้วอยู่ไปได้เรื่อย ๆ หลายปี อย่างโต๊ะ โคมไฟ โต๊ะของเราก็ซื้อมาจาก Home pro 900 กว่าบาท ไม่ได้ใช้โต๊ะแพงมากเพราะเราก็ย้ายหอบ่อย กล่องดินสอที่เราใช้อยู่ก็ใช้มาปีกว่าแล้ว บางทีเห็นลายนู้นลายนี้น่ารัก ก็อยากซื้อใหม่เหมือนกัน แต่มันยังไม่พังเลย เราก็เลยยังไม่ซื้อดีกว่า
ของตกแต่งบางอย่างเป็นกระแสนะ เด็ก ๆ จะเป็นเหยื่อการตลาดกันเยอะมาก เพราะเวลาไปปรึกษาใครส่วนใหญ่เขาก็จะเชียร์ให้ซื้อกัน ไม่ค่อยมีใครห้าม เพราะแบบนี้เวลาเราซื้ออะไรมาเราเลยพยายามเนียน ๆ ไม่เชียร์ ไม่ขาย ไม่อธิบาย คนถามเมื่อไหร่ค่อยตอบ อย่างกล่องดินสอที่ใช้มาปีกว่าเราก็แชร์สตอรีว่า 1 ปีแล้วนะ ยังใช้อันนี้อยู่เลย ก็อยากบอกเด็ก ๆ ที่เขาตามเราอยู่ว่าใช้ของประหยัด ๆ ก็เลยพยายามแทรกอะไรแบบนี้ลงไปใน Studygram ของเราด้วย คือเรารู้สึกว่าสิ่งที่เราทำและโพสต์ของเรามันก็มีผลกระทบต่อเด็กหลาย ๆ คน จะโพสต์จะบ่นอะไรก็เลยต้องคิดเยอะนิดนึง
เรื่องพีก ๆ ที่เจอตอนทำ Studygram (และวิธีรับมือ)
เคยมีคนจ้างมาให้ทำข้อสอบ (โห !) เขาบอกว่าเป็นงานไม่เก็บคะแนนแต่ว่าด่วน ให้ทำเวลาบ่ายโมงถึงสี่โมง เขาไม่บอกว่าเป็นข้อสอบนะ แต่ด้วยพฤติการณ์มันดูยังไงก็เป็นการสอบ เราก็เลยไม่ได้รับทำ เราไม่ค่อยเห็นด้วยกับการใช้ช่องว่างของการสอบออนไลน์มาโกงอาจารย์แบบนี้
อีกเรื่องก็ประมาณปีก่อน เราเพิ่งได้ไอแพดมาแล้วก็โพสต์ขอคำแนะนำการใช้โปรแกรมในไอแพด เพราะเราไม่ค่อยชำนาญ ก็มีคนตอบกลับมาว่า “โง่จังเลยค่ะ ไม่ต้องโพสต์ถามโซเชียลเยอะขนาดนี้ก็ได้นะคะ” ก็คุยกันไปเรื่อย ๆ จนเพื่อนของเขาต้องมาคุยแทนแล้วขอโทษเราแทนเพื่อน ก็ค่อนข้างจะงง ๆ นิดนึง เพราะความเป็นสาธารณะเนี่ยแหละมันก็เลยเจอคนที่หลากหลาย
(แล้วจัดการกับอะไรแบบนี้ยังไง) พอเป็นโซเชียลแบบนี้เราก็ทำอะไรไม่ได้มากเพราะเราไม่รู้จักเขา ช่วงแรก ๆ เราเสียใจ ฟูมฟาย มีไประบายกับเพื่อนบ้าง แต่หลัง ๆ เราเริ่มชินแล้วก็เลยปล่อย ถ้าเขากล่าวถึงเราโดยตรงส่วนใหญ่เราจะคุย คือเราเข้าใจว่าคนที่ไม่ชอบการแสดงออกอะไรแบบนี้ก็มี แล้วคนแบบนี้ก็มีอยู่ทุกวงการ มันยากมากที่จะทำให้ทุกคนชอบสิ่งที่เราทำได้ เราไม่สามารถห้ามความคิดคนอื่นได้ ที่ทำได้ก็คือจัดการตัวเองไม่ให้ไปเห็นหรือรู้สึกแย่กับอะไรแบบนี้ หรือรู้สึกแย่ได้ แต่ก็ต้องหาวิธีให้ตัวเองกลับมาโอเคด้วย ซึ่งคนที่ทำ Studygram ก็จะมีคำศัพท์ที่เรียกกันว่า “Rest”
Rest !
Rest เป็นการพัก Studygram เพื่อไปจัดการตัวเอง จัดการอารมณ์ ประมาณว่า “เราจะ rest นะจ๊ะ” ขอหายไปสักพักเดี๋ยวกลับมา แต่บางคนหายไปไม่กลับมาเลยก็มี
(เคย rest บ้างไหม) เคย rest อยู่นะ มีประมาณ 2 - 3 ครั้งที่ไม่โอเคจากคำวิจารณ์ บางที rest เพราะเหนื่อยเฉย ๆ ก็มี เราก็จะพักจากตรงนี้ไปอยู่กับสังคมอื่น อย่าทำให้ Studygram เป็นโลกทั้งใบของเรา อยากให้เผื่อใจและมีสังคมอื่นไว้บ้าง เวลาที่อันใดอันหนึ่งพังเราก็จะยังมีที่ให้ไปพักใจ อาจจะไม่ใช่แค่สองที่นะ มากกว่านี้ก็ได้ จริง ๆ ต้องขอบคุณคนเหล่านี้นะที่ทำให้เราแข็งแกร่งขึ้น เมื่อก่อนเราก็เหมือนเด็ก ใครแกล้งก็ร้องไห้เสียใจ ตอนนี้ก็รู้สึกมีภูมิคุ้มกันขึ้นเยอะ
ได้อะไรบ้างจากการทำ Studygram
4 ปีที่ผ่านมาเหมือนอยู่ในสงครามเลย (หัวเราะ) ก็ได้คอนเน็กชันเยอะมากนะจากการทำ Studygram ตอนนี้เราก็รู้จักคนจากเกือบทุกมหา’ลัย อยากรู้เรื่องอะไรก็ถามในสตอรีได้ ต้องการความช่วยอะไรเขาก็ช่วย แล้วก็ได้รู้จักคนหลาย ๆ รูปแบบจากตรงนี้ บางคนที่มาสัมภาษณ์เราเราก็ได้คุยกับเขา แลกเปลี่ยนข้อมูลกัน แล้วก็มีน้องที่สนิทมาก ๆ ที่รู้จักกันจาก Studygram นัดกันไปอ่านหนังสือได้ แล้วก็มีโอกาสได้ทำ Studygram meeting กับน้องที่ทำ Studygram เหมือนกันด้วย
Studygram meeting เนี่ยจัดเมื่อเดือนธันวาคมของปีก่อนนู้น (ปีพ.ศ. 2561) เป็นไอเดียเราที่นึกออกตอนไปเห็นของตกแต่งเยอะ ๆ ตอนเดินเล่นที่ Mr. DIY แล้วก็อยากจัดปาร์ตี้ แล้วก็นึกถึงคอมมิวนิตี Studygram ขึ้นมา ตอนแรกว่าจะจัดเป็นปาร์ตี้เล็ก ๆ แค่ 5 - 6 คน แต่ไป ๆ มา ๆ ก็คิดว่าลองชวนคนอื่นด้วยดีไหม ตอนนั้นก็ตั้งกรุ๊ปไลน์กัน ประชุมงานกันผ่านไลน์คอล ก็เตรียมกันเองทุกขั้นตอนตั้งแต่หาทุน หาสปอนเซอร์ ดูสถานที่ จัดแนะแนวให้น้อง ๆ ประมาณ 50 คนที่สนใจ มาอบรมแล้วก็แนะแนวการศึกษากัน ช่วงเช้าเราก็มีแลกโปสการ์ดคริสต์มาส ซึ่งตรงนี้ใครมาก็ได้ ตอนบ่ายเราก็ย้ายไปคาเฟ่ มีช่วงถามตอบแนะแนวการศึกษา ทำแพนเค้กคริสต์มาส จับของขวัญกัน แล้วก็จะมีช่วงถามตอบรายบุคคลด้วย
(คิดว่า Studygram ช่วยเรื่องเรียนมากแค่ไหน) เราว่าช่วยมาก ๆ เลยนะ ถ้าไม่มี Studygram เราก็คงไม่มีเป้าหมายขนาดนี้ จินตนาการไม่ค่อยออกเหมือนกันว่าถ้าไม่มี Studygram เราจะเป็นยังไง เพราะชีวิตมหาลัยประมาณ 80% เปอร์เซ็นต์ของเราคืออยู่ตรงนี้ เราได้รับแรงกระตุ้นจากคนที่เขาขยันด้วย ถึงมันจะมีอะไรที่ Toxic บ้าง มีดราม่าบ้าง อาจจะทำให้เรารู้สึกกดดันนิดหน่อย แต่มันก็ทำให้เราเรียนได้ดีขึ้นจริง ๆ
อยากฝากอะไรถึงน้อง ๆ ที่กำลังเรียนอยู่
Studygram ก็เป็นอีกช่องทางนึงที่ทำให้การเรียนของเราไม่เหงา ยิ่งเรียนออนไลน์ไม่ได้ไปเจอเพื่อนแบบนี้ด้วย มันก็เป็นการกระตุ้นตัวเองอีกทางนึงด้วย แล้วก็อยากฝากถึงน้อง ๆ ว่า เราอาจจะเห็นแค่เบื้องหน้าของ Studygram ที่ดูสวยน่ารัก แต่มันมีเบื้องหลังที่เรายังไม่รู้อีกมาก แค่เขาไม่ได้เอามาบอกเรา อย่าไปคิดว่าชีวิตเขาเลิศหรูอะไรขนาดนั้น แล้วก็อย่าตัดสินใครแค่จากรูปภาพ
จากความอดทนและการบริหารเวลาสำหรับการอ่านหนังสือ Studygram จึงไม่ได้ช่วยแค่เรื่องเรียน แต่ยังให้ประสบการณ์ดี ๆ และทำให้เราเติบโตขึ้นเยอะมาก ๆ อาจจะมีอุปสรรคบ้าง มีวันที่แย่บ้าง ไม่ถูกใจใครบ้างแต่ก็อย่าได้แคร์ แค่ได้สร้างพื้นที่อ่านหนังสือในแบบของตัวเองก็ถือว่า Studygram ของเราประสบความสำเร็จมากแล้วเพื่อน ๆ ว่าไหม ?