Interview with Timelie พูดคุยเรื่องเกมกับพี่เจมส์จาก Urnique Studio

2563-8-28-[Blog]-timelie-BP-tone-COVER-840-x-410-px-1st-Draft

นาน ๆ ครั้งเราจะเห็นชื่อสตูดิโอไทยใน Steam สักที โอกาสดี ๆ แบบนี้ StartDee เลยอยากพาเพื่อน ๆ ไปรู้จักกับพี่เจมส์ปริเมธ วงศ์สัตยนนท์ จาก Urnique Studio สตูดิโอเกมไทยที่เพิ่งมีผลงานดี ๆ อย่างเกม Timelie ไปหมาด ๆ 

Timelie คือเกมแนวแก้ปริศนา (Puzzle) สุดอินดี้ฝีมือคนไทยที่ได้รับคำชมจากผู้เล่นอย่างล้นหลาม การันตีด้วย 5 รางวัล[1] จาก Thai Game Award 2020 และเวทีประกวดดิจิทัลคอนเทนต์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยอย่าง Bangkok Digital Content Festival 2020 (BIDC 2020) ในเกมนี้ผู้เล่นจะได้สวมบทบาทเป็นสาวน้อยปริศนา ที่มีภารกิจหลักคือการพาตัวเองและน้องแมวผู้ช่วยหลบหนีออกมาจากห้องที่เต็มไปด้วยหุ่นยนต์ให้ได้ โดยจุดเด่นของเกม Timelie คือแถบควบคุมเวลาที่ช่วยให้ผู้เล่นสามารถควบคุมเวลาได้อย่างอิสระ ฟังแล้วดูเป็นเกมฟอร์มใหญ่ จนแทบไม่น่าเชื่อเลยว่าจุดเริ่มต้นของเกม Timelie นั้นมาจากโปรเจกต์จบของนิสิตภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ (Computer Engineering) เท่านั้น

 

“ทีมที่เริ่มทำตัวเกม Timelie ก็จะเริ่ม 5 คน เพราะว่ามันเริ่มมาจากโปรเจกต์จบ เป็นซีเนียร์โปรเจกต์เพื่อไปประกวดมาก่อน พอไปประกวดแล้วก็ได้รางวัล หลังจากนั้นเราก็เลยต่อยอดมาเรื่อย ๆ”

พี่เจมส์ (ที่ตอนนี้รับหน้าที่เป็น CEO ของ Urnique Studio แล้ว !) เล่าให้เราฟังถึงจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ของเกม Timelie

[1] เกม Timelie ได้รับรางวัล Game of the Year จากเวที Thai Game Award 2020 รวมถึงรางวัล Best of Game Design, Best of Visual Art, Best of Sound และ Developer Choice Award จาก Bangkok Digital Content Festival 2020 ด้วย

 

พี่เจมส์ และเกมในวัยเด็ก !

Q: อยากรู้ว่าพี่เจมส์เริ่มสนใจเกมตั้งแต่ตอนไหน

A: “ตั้งแต่อุแว้ ๆ ฮ่า ๆๆๆ”

ตั้งแต่เด็กเลยครับ ยิ่งเป็นยุคที่เกมออนไลน์มันเฟื่องฟู สมัยนั้นเราก็มีความใฝ่ฝันไว้ว่าอยากสร้างเกม อยากมีเกมเป็นของตัวเอง พี่คิดว่ามันเป็นความใฝ่ฝันของเด็กที่เล่นเกมหลาย ๆ คนนะ แต่ถ้าถามว่ามันจุดประกายตั้งแต่ตอนไหน ก็ต้องย้อนไปตอนเด็ก ๆ อีก สมัยเป็นเด็กประถมเนี่ยพี่ก็ชอบหยิบกระดาษมาวาดรูป วาดเกมให้เพื่อนเล่นกัน เกมแรกของเราในชีวิตก็คือการสร้างเกมกระดาษมาให้เพื่อนในห้องเล่น จากเกมกระดาษตรงนั้นก็ต่อยอดมาเป็นความฝันที่ว่า 'ชีวิตนี้ต้องทำเกม' อย่างทุกวันนี้

 

Q: จากการที่ชอบเล่นเกมทำให้พี่เจมส์ตัดสินใจเข้าวิศวะคอมหรือเปล่า ?

A: จริง ๆ มันก้ำกึ่งนะ สำหรับพี่ตอนนั้นคือเรียนอะไรก็ได้ที่เกี่ยวกับเกม เพราะอยากทำเกม ตอนแรกแอบสนใจแนวแอนิเมชันหรือด้านกราฟิก แต่ว่าสุดท้ายคือด้วยความที่เราเป็นเด็กสายวิทย์ คุณพ่อก็เรียนวิศวะ จุฬาฯ ก็เลยรู้สึกว่าพี่ชอบคณะวิศวะ ไปฟังคุณครูแนะแนวพูดก็เลยสนใจ วิศวะเลยกลายเป็นคณะในฝันที่เราอยากเข้า 

จากนั้นก็มานั่งคิดว่าอะไรที่มันใกล้เคียงวิศวะกับเกมมากที่สุด ก็เลยเลือกวิศวะคอมพิวเตอร์ ในหัวพี่ตอนนั้นก็คือต้องเป็นจุฬาเท่านั้นด้วย ก็เลยเป็นวิศวะคอม จุฬาฯ เป็นเป้าหมายตอนม.ปลายของพี่ที่จะต้องเข้าให้ได้

 

โปรเจกต์จบ เกมไม่จบ

Q: เริ่มจากโปรเจกต์จบแต่ Timelie ก็พัฒนามาไกลมาก ๆ อยากให้พี่เจมส์เล่าเรื่องโปรเจกต์จบให้ฟังหน่อย

A: เรื่องโปรเจกต์จบเนี่ยเขาไม่ได้กำหนดอะไรเลย อย่างภาควิศวะคอมพิวเตอร์ก็มีอาจารย์ที่เชี่ยวชาญหลากหลายด้านอยู่แล้ว เพราะคอมพิวเตอร์มันเป็นวิชาที่กว้าง ดังนั้นสิ่งที่เราต้องทำคือ “เลือกว่าเราจะทำโปรเจกต์ในแขนงไหน” แล้วก็ไปหาอาจารย์ที่สามารถให้คำแนะนำในแขนงนั้นได้ แล้วพอดีที่ภาคพี่มีอาจารย์ที่สอนเรื่องเกมพอดี ก็เลยไปหาอาจารย์โดยตรง

 

Q: มีอาจารย์ที่เชี่ยวชาญเรื่องเกมหลายคนไหม ?

A: มีคนเดียวทั้งภาค (หัวเราะ) ปีพี่อาจารย์เขาเลิกสอนด้วย เขาหยุดไปเขียนหนังสือ แต่พี่รู้จักอาจารย์อยู่แล้ว รอเรียนกับเขามาตลอด รอมาสี่ปีเลยนะเพราะว่าเขาจะสอนตอนเราอยู่ปีสี่ แต่พอพี่ขึ้นปีสี่ปุ๊บ ! เขาก็หยุดไปเขียนหนังสือ ก็เลยโอเค… ไม่ได้เรียนเกม (ขำ)

 

Q: ปกติจะเปิดเป็นวิชาเลย ?

A: เป็นวิชานึงเลยครับ แต่เรียนแค่เทอมเดียว เป็นเกมดีไซน์อะไรแบบนี้

Banner-Orange-Noey

Q: แล้วโปรเจกต์จบมีเกรดไหม ?

A: “โปรเจกต์จบมันมีโจทย์แค่ว่าเราอยากทำเกมเพื่อให้ได้รางวัล”

คือสำหรับภาคพี่โปรเจกต์จบเขาให้ทำแค่สองคน หรืออย่างมากคือสามคน แต่กลุ่มพี่ห้าคน มันยิ่งใหญ่มาก ตอนแรกอาจารย์เขาไม่ให้และอยากให้แบ่งครึ่ง แต่พวกพี่ดื้อ อยากทำด้วยกัน เพราะเรารู้สึกว่าทุกคนเก่งคนละด้าน ถ้าเรารวมกันได้มันจะได้โปรเจกต์ที่เจ๋ง อาจารย์เลยบอกว่างั้นพวกคุณทำห้าคนก็ได้ แต่คุณต้องทำโปรเจกต์ที่มันคู่ควรกับคนห้าคนช่วยกันทำ

ซึ่งโปรเจกต์ภาคคอมส่วนใหญ่คือโปรเจกต์เชิงวิจัย แต่เกมมันวิจัยอะไรไม่ได้ เพราะฉะนั้นอาจารย์เขาเลยอยากวัดผลด้วยการให้ไปประกวด ถ้าคุณประกวดได้ที่เท่าไหร่ ได้เกรดเท่านั้น มันก็เลยเป็นโจทย์ของพี่แต่แรกแล้วว่า “โอเค ! งั้นเราจะทำเกมสำหรับประกวด เป็นเกมที่ใหญ่พอสำหรับคนห้าคน และต้องได้รางวัล” ซึ่งมันมีการแข่งขันพัฒนาซอฟท์แวร์ของประเทศไทยอยู่แล้ว[2] ก็ตั้งเป้าแต่แรกแล้วว่าเราจะทำเกมที่ต้องได้รางวัลที่หนึ่ง เกมอะไรก็ได้ที่มันได้ที่หนึ่ง อันนั้นคือเป้าหมายของทีมที่เราโฟกัส

[2] การแข่งขันพัฒนาซอฟท์แวร์แห่งประเทศไทย (National Software Contest: NSC) จัดโดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

 

Timelie ก่อนที่จะเป็น Timelie

Q: ได้ยินว่าก่อนหน้านี้มีเวอร์ชันเดโม่ด้วย

A: อ๋อใช่ ! ย้อนไป 4 ปีที่แล้ว เดโม่ก็คือ Timelie เวอร์ชันที่เป็นโปรเจกต์จบพี่นี่แหละ จะเรียกว่าเดโม่ได้ไหมนะ ?  คือพี่เรียกว่าเป็นเวอร์ชันอัลฟา เป็นเวอร์ชันเทสเตอร์เอาไว้ให้คนมาทดลองกัน เพราะว่าเป้าหมายตอนนั้นคือพี่ต้องส่งเกมไปประกวด จาก NSC ก็ไปประกวด Microsoft’s 2016 Imagine Cup ต่อ ตอนนั้นมีช่วงแก็ปที่ว่างตอนเตรียมตัวไปประกวด 2-3 เดือน เลยพยายามหาวิธีกับเพื่อน ๆ ว่าเราจะพัฒนาเกมอะไรยังไง

ก็เลยเปิดรับอัลฟาเทสเตอร์ เป็นการเปิดรับให้คนที่สนใจมาเทสเกม แล้วก็เปิดกรุ๊ปเฟซบุ๊กขึ้นมา ตอนนั้นมีคนเข้ามาอยู่ในกลุ่มประมาณ 200 คน เราก็แจกเกมในนั้นให้คนเอาไปลง ไปลองเล่นกันแล้วให้ฟีดแบ็กเรา เราก็ปรับปรุง Timelie จากฟีดแบ็กต่าง ๆ แล้วก็ไปพรีเซนต์น่ะครับ… ก็ปรับปรุงมาหลายอย่างเหมือนกัน ทั้งเรื่องสตอรี ประสบการณ์ผู้ใช้ (User experience: UX) เรื่องรูปลักษณ์หน้าตาโดยรวมของเกม วิธีการควบคุมเกม (User Interfece: UI) ก็ด้วย อะไรที่เขาไม่ชอบเราก็พยายามแก้ อันไหนเขาชอบเราก็พยายามทำให้ดีขึ้น 

 

Q: แปลว่า Timelie ก็ปรับจากเวอร์ชันอัลฟาไปเยอะเหมือนกัน อยากรู้ว่ามีการปรับเปลี่ยนอะไร ยังไงบ้าง

A: โห... มันเปลี่ยนไปเยอะเลยครับ เพราะถ้าเป็นตัวอัลฟาปุ๊บ มันก็เสร็จในตัวของมัน เอาไปประกวดเรียบร้อยได้รางวัลมาแล้ว นั่นก็ถือว่าเป็น Timelie เวอร์ชันนึงนะครับ แต่ว่าพี่ก็รื้อทำใหม่หลายรอบกว่าจะเป็นเวอร์ชันปัจจุบัน ถามว่ามีกี่เวอร์ชันก็จะประมาณ 5-6 เวอร์ชัน แล้วแต่ละเวอร์ชันมันก็จะมีโจทย์ที่ต้องแก้ไขที่ต่างกันไป อย่างตอนจบมาเหลือสามคน พอจะรื้อเกมมาทำใหม่เรารู้เลยว่ามันทำไม่ทัน ทำไม่ไหว มันไม่มีทางเสร็จ ถ้าอยากทำเกมที่ทำสามคนเสร็จได้ เราเลยต้องแก้ระบบหลาย ๆ ระบบให้มันเรียบง่ายขึ้น แล้วพอเริ่มขายเกมเราก็เอาเรื่องการตลาดเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

2563-8-28-[Blog]-timelie-BP-tone-TX-03-840-x-410-px-1st-Draft

 

สิ่งที่ภาควิชาวิศวะคอมพิวเตอร์สอน (และไม่ได้สอน)

Q: สังเกตว่าจากการปรับปรุง Timelie ในเวอร์ชันที่ผ่าน ๆ มา พี่เจมส์ต้องใช้ทักษะบางอย่างที่ในคณะไม่ได้สอนด้วย

A: ใช่มะ ! (หัวเราะ) จริง ๆ ถ้าถามว่าคณะสอนอะไรบ้าง คือคณะอาจจะไม่ได้สอนพี่โดยตรง แต่สิ่งหนึ่งที่คณะวิศวกรรมคอมพิวเตอร์สอนพวกพี่ คืออย่างน้อยที่สุดการโค้ดของพวกพี่มันเป็นระบบ ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ของเราไม่ได้สอนสร้างเกมโดยตรง ถึงจะมีวิชาภาคที่สอนออกแบบเกม แต่มันก็แค่นั้น แค่ออกแบบเกม แล้วพี่ก็ไม่ได้เรียนด้วย (อ้าว !) ก็บอกว่าอาจารย์เขาหยุดไปเขียนหนังสือ (หัวเราะ) เศร้ามาก

อีกอย่างก็คือเขาไม่ได้สอนให้เราไปเขียนเว็บนะ ใครที่อยากเรียนวิศวะคอมพิวเตอร์แล้วคิดว่า เฮ้ย ! ต้องเขียนเว็บได้ ต้องเขียนภาษานี้เป็น เดี๋ยวจะได้เขียนภาษานู้น เดี๋ยวจะได้เขียนภาษานี้ ภาษานั้น มันไม่ใช่อย่างนั้นเลย เขาสอนพื้นฐาน สอนให้เราเข้าใจโครงสร้างของการออกแบบหรือเขียนโปรแกรมใด ๆ ขึ้นมา ซึ่งตัวนั้นถือเป็นพื้นฐานให้เราเขียนโปรแกรมขึ้นมาได้ “ดี” ถามว่าคนอื่นสามารถเรียนเขียนโปรแกรมเองได้ไหม ได้ ! ไม่จำเป็นต้องเรียนวิศวะคอมฯ ไม่จำเป็นต้องเรียนวิทยาศาสตร์คอมฯ ก็เขียนโปรแกรมได้ แต่สิ่งที่วิศวะคอมฯ และวิทยาศาสตร์คอมฯ สอนในภาคมันคือการทำให้เราเข้าใจพื้นฐานเบื้องต้นในการเขียนโปรแกรมที่ดี ซึ่งเราใช้พื้นฐานตรงนั้นในการเขียนเกมของเรา เรามีพื้นฐานตรงนี้ เราก็เขียนเกมเป็นระบบมากขึ้น จะว่าอย่างนั้นก็ได้ ทำให้เกมสามารถทำงานได้ดีอะไรแบบนี้ อีกอย่างพอได้มาเรียนวิศวะคอมฯ เราได้หยิบคณิตศาสตร์เรื่องยาก ๆ มาลองใช้ประโยชน์ สร้างสิ่งที่ใช้งานจริง ๆ เราเรียนทฤษฎีเหล่านี้มาเป็นสิบปีแต่ไม่รู้ว่าเอามาทำอะไรได้ แล้วได้มาลองใช้จริงในตอนที่อยู่ในคณะ... มันเลยสนุกตรงนี้

แต่ถามว่าพอออกมาทำเกมแล้วมีด้านอื่นที่ต้องเรียนรู้เองมั้ย... ก็มีครับ อย่างพี่เปิดบริษัท เป็นสิ่งที่คณะวิศวะไม่เคยสอนแน่นอนนะครับ เรื่องภาษี กฎหมายอะไรพวกนี้ ก็เรียกว่างมโข่ง ตื่นเต้นมาก จริง ๆ ก็อยากให้คณะมีอะไรพวกนี้สอนเหมือนกัน

2563-8-28-[Blog]-timelie-BP-tone-TX-01-840-x-410-px-1st-Draft

 

อยากทำเกมบ้าง เริ่มจากอะไรดี ?

Q: ถ้าน้อง ๆ ที่ชอบเกมอยู่ อยากจะมาทำงานด้านเกมบ้าง อยากรู้ว่าตอนเลือกคณะควรเลือกจากอะไร อยากให้พี่เจมส์ช่วยแนะนำหน่อย

A: จริง ๆ การทำเกมมันมีหลายสายมาก ไม่ว่าจะเรียนคณะหรือสาขาไหน คุณก็มีโอกาสมาทำเกมได้หมด ถ้าถามว่ามันมีคณะกำหนดตายตัวไหมก็คือไม่มี จริง ๆ เดี๋ยวนี้มีคณะที่เกี่ยวกับเกมเยอะมาก ก็สามารถไปเรียนได้ อันนั้นก็จะได้เรียนโดยตรงและเรียนทุกอย่างเลย แถมได้เจอเพื่อนที่เป็นคอเกมเหมือนกัน ได้คอนเนกชันด้วย อันนั้นก็จะดีเหมือนกัน

แต่ว่าอย่างพี่เลือกเรียนสายคอมก็เลือกเรียนได้สองคณะเลย ทั้งคณะวิศวกรรมศาสตร์และคณะวิทยาศาสตร์ ดังนั้นคำถามที่ว่า 'ทำเกมมันมีคณะที่ต้องเรียนแบบตายตัวไหม' ก็คือไม่มีแล้วกัน ไม่ว่าจะเรียนคณะไหนก็จะมีทั้งข้อได้เปรียบและข้อเสียเปรียบหมด แต่การเรียนสายวิทย์ก็จะได้เปรียบเรื่องคณิตศาสตร์นิดหน่อย คือเด็กหลายคนชอบทิ้งวิชาที่สำคัญสำหรับการทำเกมอย่างคณิตศาสตร์ เพราะทุกอย่างในเกมเป็นสมการ เป็นตัวเลขหมดเลย... ถ้าสนใจอยากจะทำเกมก็ควรจะรักคณิตศาสตร์นิดนึง

 

Q: พอจะมีที่ว่างให้น้อง ๆ สายศิลป์ไหม ?

A: วาดรูปครับวาดรูป ! งานของสายอาร์ตก็จำเป็นมาก ๆ เหมือนกันสำหรับการทำเกม เพราะทุกเกมที่เราคิดกันมา ถ้าไม่มีคอนเซปต์อาร์ตทิส (Concept Artist) หรือ 3D Artist คนก็จะไม่เห็นภาพ แต่ส่วนใหญ่คอนเซปต์อาร์ตจะมีบทบาทแค่ในระยะแรก ๆ ของการทำเกม ความต้องการของงานในตำแหน่งนี้ก็เลยอาจจะไม่สูงขนาดนั้น

2563-8-28-[Blog]-timelie-BP-tone-TX-02-840-x-410-px-1st-Draft

 

Q: พี่เจมส์คิดว่าในอนาคตเราจะสามารถทำอาชีพเกี่ยวกับเกมอย่างมั่นคงได้ไหม

A: อาชีพเกี่ยวกับเกมก็มั่นคงได้นะ ทุกวันนี้เกมเป็นสื่อบันเทิงรูปแบบหนึ่งที่ได้รับการยอมรับมากขึ้น ผู้เสพก็มีมากขึ้น คนที่เข้าถึงเกมก็ไม่จำเป็นต้องเป็นคนที่เล่นเกมเป็นเสมอไป ตอนนี้เรามีนักแคสเกม นักข่าวเกม นักรีวิวเกม นักกีฬาอี-สปอร์ต (E-Sport) มีเด็ก ๆ ที่ชอบเกม ซึ่งในอนาคตเด็ก ๆ เหล่านี้ก็จะเติบโตขึ้น อนาคตพี่เลยเชื่อว่าจะมีอาชีพใหม่ ๆ ที่จะมารองรับความต้องการตรงนี้มากขึ้น มันแค่ต้องถามว่าอาชีพเกี่ยวกับเกมพวกนี้จะได้รับการยอมรับมากขึ้นเมื่อไหร่มากกว่า

Banner-Orange-Small-2

 

Q: คุณพ่อคุณแม่ไม่ปลื้มกับเกม มีวิธีรับมือยังไง

A: พี่ไม่ได้ทำอะไรเป็นพิเศษเลย คือมันเป็นความโชคดีของพี่ที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ได้เข้มงวดกับตรงนี้เท่าไหร่ แต่เราก็มีความรับผิดชอบของเราอยู่ก็คือต้องทำเกรดให้โอเค เพราะถ้าเกรดเราไม่ดีปุ๊บ พ่อแม่เขาก็จะเริ่มหาคนร้าย แล้วถ้าเราเล่นแต่เกมให้เขาเห็นทุกวัน ยังไงเขาก็ต้องโทษเกมอยู่แล้ว พี่เลยคิดว่าถ้าเราจะเล่นเกมอย่างสบายใจได้เนี่ย เราต้องรับผิดชอบหน้าที่ของตัวเองให้ดีในระดับนึง ทำให้เขาเห็นว่ามีความรับผิดชอบของตัวเองจริง ๆ 

ถึงจะพูดแบบนี้แต่จริง ๆ พี่เป็นเด็กติดเกมในระดับนึงเลยนะ คือเล่นเกมตลอด แต่พอเล่นมาถึงจุดนึงพ่อพี่ก็บอกว่า “เจมส์เล่นเกมได้ แต่อย่าให้เกมเล่นเรา” เราก็เลยรู้สึกว่าเฮ้ย ! เท่ ! (หัวเราะ) มันเป็นอะไรที่อยู่ในหัวพี่ตลอด คือพ่อพูดกับพี่ตั้งแต่สมัยป.2 แล้วนะ คือเพิ่งมารู้ตอนโตนะว่าเป็นคำที่โหลมาก ใคร ๆ ก็พูดกัน แต่ตอนนั้นรู้สึกว่าพ่อนี่โคตรเท่เลย จากนั้นเวลาเล่นเกมหน้าพ่อก็จะลอยมา “เล่นเกม อย่าให้เกมเล่นเรา” “เล่นเกม อย่าให้เกมเล่นเรา” (หัวเราะ)

 

Q: คำถามสุดท้ายแล้ว มีอะไรอยากจะฝากถึงน้อง ๆ ไหม

A: ก็… เล่นเกมได้แต่อย่าให้เกมเล่นเรา (หัวเราะ) เอาคำพ่อมาใช้ แต่จริง ๆ คืออยากให้มีวินัยในตัวเองครับ อย่าลืมว่าเรามีหน้าที่ มีความรับผิดชอบของเราอยู่ มันอาจฟังดูยาก แต่ถ้าเราตั้งใจกับมันจริง ๆ มันให้ผลตอบแทนที่ดีกลับมาแน่นอน จริง ๆ ก็คือมองเกรดเป็นเกมก็ได้ มันไม่ได้ยากขนาดนั้น ลองตั้งเป้าไว้แล้วลองตั้งใจกับมันดู พยายามหาวิชาที่ชอบ จุดที่สนุก จุดที่ดีของมัน มองว่าเป็นการสร้างพื้นฐานที่จะต่อยอดเป็นอะไรดี ๆ ในอนาคตก็แล้วกัน ซึ่งจริง ๆ แล้วการมองแบบนี้ไม่ได้จำกัดเฉพาะแค่เรื่องเรียน แต่พี่รู้สึกว่าการใช้ชีวิตของพี่คือเราพยายามมองหาความสนุกในทุก ๆ อย่างตลอด ถ้าเราหาความสนุกตรงนั้นได้มันจะทำให้เรามีความสุข มีแพสชันที่จะทำมันได้

 

Q: สุดท้ายแล้ว ! สุดท้ายจริง ๆ !

A: ก็ฝากเกม Timelie ด้วยนะครับ จำหน่ายแล้ววันนี้ทาง Steam นะครับ เกมดีมีคุณภาพในราคา 329 บาทเท่านั้น แล้วก็ฝากติดตามเพจเฟสบุ๊กของ Timelie เพจ Urnique Studio เพจส่วนตัวของพี่ด้วย Parimeth James Wongsatayanon (หัวเราะ) เพจพี่ก็จะแชร์ข่าวสาร อัพเดทวงการเกมต่าง ๆ ทั้งไทยแล้วก็ต่างประเทศ มีมุกตลกบ้างอะไรบ้าง ถ้าสนใจก็มาติดตาม มาหาสาระบนความไร้สาระไปด้วยกันได้

 

จบกันไปแล้วสำหรับบทสัมภาษณ์ของพี่เจมส์คนเก่ง ถ้าเพื่อน ๆ อยากอ่านบทสัมภาษณ์สนุก ๆ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ คลิกอ่านเรียนคณิตไปทำไม ? ไขข้อข้องใจไปกับ เพจคณิตศาสตร์อย่างที่ควรจะเป็น, เมื่อคณะที่ใช่...ไม่ใช่คณะที่พ่อแม่อยากให้เรียน เปิดประเด็นกับพี่สมิตจาก Life Education Thailand, Studygram insight: จดโน้ตไป คุยไปกับ lawstudenttu

แสดงความคิดเห็น