อยากทำ Portfolio ให้ปัง ฟังทางนี้!

ทำ Portfolio

สวัสดีเพื่อน ๆ ชาว TCAS ทุกคน ! เราเชื่อว่าการสอบเข้าเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย นับเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของเหล่าวัยรุ่นวัยเรียนอย่างพวกเราเลยทีเดียว ซึ่งในระบบ TCAS ได้มีรูปแบบการคัดเลือกที่เรียกว่า ‘การยื่น Portfolio’ หรือเรียกง่าย ๆ ว่า ‘รอบพอร์ต’ ซึ่งหลายคนหมายตาและตั้งใจไว้ว่าอยากสอบติดกัน เพราะเป็นรอบแรกของการสอบเข้ามหาวิทยาลัย และเปิดรับตั้งแต่ช่วงม.6 เทอม 2 เลยล่ะ

แต่จะการทำ Portfolio ให้โดนใจกรรมการนั้น เรียกได้ว่าหินพอ ๆ กันกับการสอบข้อเขียนในรอบอื่น ๆ เลยทีเดียว วันนี้เราเลยนำทุกเรื่องที่ต้องรู้ก่อนตัดสินใจยื่นพอร์ตมาฝากเพื่อน ๆ ชั้นม.4 และม.5 ให้ได้เตรียมตัวล่วงหน้า ส่วนเพื่อน ๆ ชั้นม.6 ก็จะได้ใช้ประกอบการตัดสินใจและเตรียมตัวสอบเข้าเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยกัน

 

 Portfolio คืออะไร 

คำว่า Portfolio ในภาษาไทยคือ แฟ้มสะสมผลงานที่แสดงถึงตัวตนของเรา ไม่ว่าจะเป็นความสนใจ ความสามารถ และศักภาพ เพราะถ้าพูดเฉย ๆ ก็คงไม่มีอะไรมายืนยัน เราเลยต้องมีเจ้าแฟ้มสะสมผลงานนี้มาทำหน้าที่คล้ายกับหลักฐาน โดยอาจเป็นเกียรติบัตร ภาพถ่าย หรือคะแนนสอบวัดความรู้ต่าง ๆ 

สำหรับการยื่น Portfolio ในระบบ TCAS จะเริ่มเปิดรับสมัครในช่วงเดือนธันวาคม ซึ่งมีทั้งคณะสายวิทย์ และคณะสายศิลป์ โดยข้อกำหนดของคณะและมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งจะแตกต่างกันออกไป เช่น เกรดเฉลี่ยขั้นต่ำ คะแนนสอบวัดผลทางวิชาการ รูปแบบของผลงานตัวอย่าง เป็นต้น ถ้าเพื่อน ๆ สนใจก็สามารถติดตามข่าวสารและกำหนดการต่าง ๆ ได้ที่เว็บไซต์ของที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) และเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ กันได้เลย

 

รอบ Portfolio ใครยื่นได้บ้าง

นอกจากนักเรียนที่สำเร็จการศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือกำลังจะสำเร็จการศึกษา นักเรียนสายอาชีวศึกษา กศน. หรือเด็กซิ่วก็สมัครรอบนี้ได้เช่นกัน (แต่เด็กซิ่วอาจจะต้องดูระเบียบการของแต่ละคณะหรือสาขานั้น ๆ อีกทีนะ) 

 

เรื่องที่ต้องรู้ ก่อนตัดสินใจยื่นรอบพอร์ต

  • รอบนี้ใช้เกรดเฉลี่ย 5 เทอม 

เนื่องจากรอบ portfolio รับสมัครในช่วงม.6 เทอม 2 เลยต้องใช้เกรดเฉลี่ยตั้งแต่ม.4 จนถึงม.6 เทอมต้น ดังนั้นเพื่อน ๆ ควรเช็กเกรดเฉลี่ยขั้นต่ำของคณะที่สนใจและเกรดเฉลี่ยของตัวเอง เพราะถ้าอยู่ชั้นม.4 - ม.5 จะได้ทำเกรดให้ถึงเกณฑ์ที่กำหนด หรือชั้นม.6 จะได้เช็กว่าเข้าเกณฑ์ไหม เพื่อไม่ให้การทำพอร์ตของเรานั้นสูญเปล่า

  • แต่ละคณะและมหาวิทยาลัยมีข้อกำหนดไม่เหมือนกัน

โดยทั่วไป Portfolio จะมี 2 ประเภทหลัก ๆ ซึ่งแบบแรกคือ ทางคณะนั้น ๆ กำหนดมาว่าต้องการคะแนนสอบหรือผลงานอะไรบ้าง เช่น บางคณะต้องมีคะแนนสอบ IELTS บางคณะต้องผ่านการคัดเลือกเพื่อเข้าค่ายสอวน. เป็นต้น ส่วนอีกรูปแบบหนึ่งคือ ทางคณะไม่ได้กำหนดมาให้ แต่เราต้องเลือกผลงานที่เกี่ยวข้องด้วยตนเอง 

  • Portfolio มี 3 รูปแบบ 

ได้แก่ แบบไม่เกิน 10 หน้า แบบไม่จำกัดจำนวนหน้า และแบบที่มหาวิทยาลัยมีแบบฟอร์มมาให้กรอกอยู่แล้ว ดังนั้นเพื่อน ๆ ต้องเช็กระเบียบการดี ๆ ว่าคณะที่เราสนใจให้ยื่นพอร์ตรูปแบบไหน แต่หากยึดตามคณะและมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ จะเป็น portfolio แบบที่ไม่เกิน 10 หน้า ตามที่ทปอ. ได้ขอความร่วมมือจากสถาบันต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่ 10 หน้านั้นจะไม่รวมหน้าปก คำนำ สารบัญ และประกอบด้วย ประวัติส่วนตัว ประวัติการศึกษา ผลงาน เกียรติบัตร รางวัลต่าง ๆ และหลักฐานจากกิจกรรมที่เคยเข้าร่วม ซึ่งจะมีส่วนอื่น ๆ เพิ่มเติมหรือไม่นั้นก็ขึ้นอยู่กับคณะที่เราสมัครอีกที

  • ไม่ต้องมีรางวัล ก็โพรไฟล์ดีได้

พอบอกว่ารอบ portfolio ต้องมีผลงาน หรือมีโพรไฟล์เข้าตากรรมการ เพื่อน ๆ บางคนอาจจะท้อใจไม่ยื่นรอบนี้ไปซะก่อน เพราะคิดว่าจะต้องมีผลงานที่แข่งขันแล้วได้รางวัลติดอันดับต้น ๆ มาอยู่ในพอร์ต แต่จริง ๆ แล้วบางกิจกรรมที่เกี่ยวข้องและมีหลักฐานว่าเราเข้าร่วม ก็เป็นตัวช่วยที่ดีไม่แพ้กับรางวัลเจ๋ง ๆ เลยนะ ดังนั้น ถ้าเพื่อน ๆ สนใจคณะนี้จริง ๆ แต่นึกไม่ออกว่าจะไปหาผลงานมาจากไหน ก็อาจจะใช้โครงงาน รายงาน หรือโปรเจกต์ที่เคยทำตอนเรียน เกียรติบัตรหรือรูปภาพจากกิจกรรมที่เคยเข้าร่วมหลาย ๆ กิจกรรมแทน ถือเป็นการใช้ปริมาณเข้าสู้ แต่ขอย้ำอีกนิดว่า ต้องเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคณะที่เราสนใจด้วยนะ

  • พอร์ตดีมีชัยไปกว่าครึ่ง แต่อีกครึ่งหนึ่งมาจากการสัมภาษณ์

portfolio ก็เหมือนตัวอย่างหนังที่ช่วยให้คนดูตัดสินใจได้ว่าจะดูหรือไม่ดูเรื่องนี้ดี ส่วนการสัมภาษณ์ หรือแสดงความสามารถ ก็เหมือนหนังทั้งเรื่องที่คนดูจะตัดสินว่าสนุกและน่าสนใจเหมือนตัวอย่างหนังหรือเปล่า ดังนั้น เพื่อน ๆ ต้องเตรียมพร้อมรอบสัมภาษณ์ให้ดีด้วย ซึ่งบางคณะอาจจะเป็นการฝึกซ้อม เช่น กีฬา ศิลปะการแสดง หรือบางคณะต้องเตรียมคำตอบในรอบสัมภาษณ์ไม่ว่าจะเป็นเหตุผลที่อยากจะเรียนคณะนั้น ความใฝ่ฝัน ความตั้งใจในอนาคต ข้อมูลเกี่ยวกับสาขาอาชีพที่เกี่ยวข้อง หรือแม้แต่คำอธิบายหรือความรู้สึกเกี่ยวกับผลงานใน portfolio ของเรา ดังนั้น เราแนะนำว่า ถ้าเพื่อน ๆ อยากจะยื่นรอบ portfolio ก็ควรจะเป็นคณะที่สนใจจริง ๆ และมีเป้าหมายที่ชัดเจนพอสมควรเลยแหละ

 

ทำ Portfolio ให้ปังด้วยการ "ลอง - ลิสต์ - เลือก - เลิศ"

1. ลองค้นหาตัวเองว่าสนใจคณะไหน

อย่างที่ได้บอกไปว่ารอบ portfolio เน้นคนที่สนใจและมีเป้าหมายอยากจะเรียนคณะนี้จริง ๆ ดังนั้นการลองค้นหาตัวเองให้เจอ จะช่วยให้เรารู้ว่าต้องเริ่มสะสมผลงานด้านไหน หรือทำกิจกรรมอะไร เพื่อให้มีผลงานตรงตามความต้องการของคณะนั้น ๆ แต่ถ้าเพื่อน ๆ คนไหนยังหาคณะที่ใช่ไม่เจอ ลองเข้าไปอ่านบทความ How to ตามหาคณะที่ใช่โดยไม่ใช้แบบทดสอบ กันได้นะ

2. ลิสต์กิจกรรมทั้งหมด

ลองลิสต์กิจกรรมที่เคยทำมาทั้งหมดก่อน โดยยังไม่ต้องคิดว่ามีเกียรติบัตรหรือรูปภาพไหม เพื่อให้นึกออกมาได้ครบและมากที่สุด ซึ่งบางทีอาจจะเป็นโปรเจกต์ หรือโครงงานที่เราทำแล้วรู้สึกภูมิใจมาก ๆ ก็ได้นะเพื่อน ๆ 

3. เลือกกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง

หลังจากที่ลิสต์ออกมาแล้ว สำหรับสายกิจกรรม ถ้ามีผลงานเยอะจนเกินไป เราแนะนำให้เลือกผลงานเด่น ๆ ออกมาดีกว่า ไม่อย่างนั้นงานชิ้นโบว์แดงของเราอาจจะถูกกลบ หรือทำให้ดูยากขึ้นในสายตากรรมการก็ได้นะ แต่ถ้าเพื่อน ๆ คนไหนรู้สึกว่าผลงานที่มีไม่ค่อยเกี่ยวกับคณะนั้น ๆ อาจจะลองปรับวิธีการเขียนให้เกี่ยวข้องมากขึ้น เช่น คณะ A ต้องการผลงานด้านการเป็นผู้นำ แต่ถ้าเราไม่ได้มีตำแหน่งประธานหรือรองประธานค่าย แต่เป็นสายเอ็นเตอร์เทนที่พาเพื่อน ๆ น้อง ๆ ในค่ายเต้น ก็อาจจะเขียนว่าเป็นผู้นำสำหรับกิจกรรมสันทนาการภายในค่ายก็ได้นะ 

4. เลิศทั้งคอนเทนต์และดีไซน์

หลังจากเลือกกิจกรรมที่เกี่ยวข้องแล้ว ก็ต้องเรียงลำดับและจัดหมวดหมู่เนื้อหาให้ดูง่าย โดยอาจเรียงตามไทม์ไลน์ หรือความโดดเด่นของกิจกรรมนั้น ๆ รวมทั้งยึดหลักการเขียนที่สั้น กระชับ และอ่านง่าย ส่วนการออกแบบ ควรมีดีไซน์ที่เหมาะกับตัวตนของเรา และคณะที่เราสมัคร อย่างคณะสายศิลป์อาจจะเน้นความสร้างสรรค์ แปลกใหม่ ใช้ฟอนต์ และดีไซน์ล้ำ ๆ ส่วนคณะสายวิทย์ อาจจะเน้นความอ่านง่ายสบายตาเป็นหลัก แต่ก็ยังสวยงามน่าอ่านเช่นกัน ซึ่งเพื่อน ๆ สามารถเข้าไปดูตัวอย่าง portfolio ได้จากเว็บไซต์ต่าง ๆ หรือเข้าไปดูรีวิวการยื่น portfolio ของรุ่นพี่ เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้นและเป็นไอเดียนำมาปรับใช้กับการทำ portfolio ของตัวเองอีกที

 

ก่อนจากกันวันนี้ ขอย้ำกันอีกนิดว่าสิ่งสำคัญของรอบ portfolio ไม่ใช่แฟ้มหนา ๆ หรือผลงานเยอะ ๆ แต่เป็นความสนใจ และความสอดคล้องระหว่างผลงานกับคณะที่เราสมัครนะเพื่อน ๆ  ซึ่งถ้าเตรียม portfolio กันไปแล้ว ก็อย่าลืมเตรียมพร้อมสำหรับการสอบในรอบอื่น ๆ ไว้เป็นแผนสำรองกันด้วยน้า ระหว่างนี้ก็สะสมความรู้รอสอบไปก่อน ไม่ว่าจะเป็นการอ่านหนังสือ ติวกับเพื่อน หรือถ้าอยากเรียนสนุกลุกนั่งสบาย แถมประหยัดค่าใช้จ่ายก็โหลดแอปพลิเคชัน StartDee มาเรียนกับคุณครูที่น่ารักของเรากันได้เลย!

Banner_N-Dunk_Orange

 

Reference : 

Chill Chills. (2019, June 12). ความจริง 1 ปี TCAS กับ ''รอบ Portfolio''. Retrieved July 16, 2020, from https://tcaster.net/2019/06/%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%AD%E0%B8%9Aportfolio%E0%B9%80%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%A1%E0%B8%95%E0%B8%B1%E0%B8%A7/

[email protected], |. (2020, June 21). Portfolio มีทั้งหมด 3 แบบ. Retrieved July 16, 2020, from http://dekshowport.com/portfolio-%E0%B8%A1%E0%B8%B5%E0%B8%97%E0%B8%B1%E0%B9%89%E0%B8%87%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%94-3-%E0%B9%81%E0%B8%9A%E0%B8%9A/

ตัวอย่าง Portfolio รอบ 1 คณะแพทยศาสตร์ จากรุ่นพี่ที่สอบติดปี 62. (2019, November 28). Retrieved July 16, 2020, from https://www.webythebrain.com/article/portfolio-1-faculty-of-medicine

แนนนี่. (1237, January 01). สรุปให้! ทปอ. แนะวิธีทำ Portfolio ม.6 ทั้งสายวิทย์-สายศิลป์. Retrieved July 16, 2020, from https://www.dek-d.com/tcas/51307/

แสดงความคิดเห็น