สารประกอบไฮโดรคาร์บอน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 วิชาเคมี

สารประกอบไฮโดรคาร์บอน

เราเชื่อว่าเพื่อน ๆ ต้องเคยเห็นแก๊สหุงต้มสำหรับทำอาหาร รวมถึงน้ำมันเบนซินและน้ำมันดีเซลที่เป็นเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์แน่นอน น้ำมันเหล่านี้เป็นตัวอย่างหนึ่งของ ‘สารประกอบไฮโดรคาร์บอน’ หนึ่งในสารอินทรีย์ที่เพื่อน ๆ จะได้เรียนกันในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ว่าแต่… จริง ๆ แล้วสารประกอบไฮโดรคาร์บอนคืออะไร พบได้แค่ในน้ำมันอย่างเดียวหรือเปล่านะ ถ้าเพื่อน ๆ อยากรู้ต้องไปหาคำตอบด้วยกันในบทความนี้แล้วล่ะ

หรือเพื่อน ๆ จะเข้าไปเรียนในแอปพลิเคชันออนไลน์อย่าง StartDee ก็ได้นะ

Banner-Green-Standard

 

สารประกอบไฮโดรคาร์บอนคืออะไร

สารประกอบไฮโดรคาร์บอนคือสารประกอบอินทรีย์ชนิดหนึ่งที่มีองค์ประกอบหลักเป็นไฮโดรเจน (H: hydrogen) และคาร์บอน (C: carbon) โดยคาร์บอนแต่ละอะตอมจะสร้างพันธะโคเวเลนต์ (covalent bond) ระหว่างกันในรูปพันธะเดี่ยว พันธะคู่ และพันธะสาม พันธะที่แตกต่างกันมีผลต่อความอิ่มตัว และความว่องไวต่อปฏิกิริยาของสารประกอบไฮโดรคาร์บอน เราจึงแบ่งประเภทของสารประกอบไฮโดรคาร์บอนตามชนิดของพันธะได้ 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ 

  1. สารประกอบไฮโดรคาร์บอนแบบอิ่มตัว (saturated hydrocarbon)
    สารประกอบไฮโดรคาร์บอนแบบอิ่มตัวเป็นสารประกอบไฮโดรคาร์บอนที่ มีแต่พันธะเดี่ยว ได้แก่ แอลเคน (alkane) ไซโคลแอลเคน (cycloalkane)
  2. สารประกอบไฮโดรคาร์บอนแบบไม่อิ่มตัว (unsaturated hydrocarbon)
    สารประกอบไฮโดรคาร์บอนแบบไม่อิ่มตัวเป็นสารประกอบที่ มีพันธะคู่ หรือพันธะสามอยู่ในโครงสร้าง สารประกอบไฮโดรคาร์บอนที่จัดอยู่ในกลุ่มนี้ได้แก่ แอลคีน (alkene) ไซโคลแอลคีน (cycloalkene) แอลไคน์ (alkyne) ไซโคลแอลไคน์ (cycloalkyne) และแอโรแมติกไฮโดรคาร์บอน (aromatic hydrocarbon)
ประเภทของสารประกอบ ชนิดของพันธะ ตัวอย่าง
แอลเคน (alkane) พันธะเดี่ยว (single bond)

propane-โพรเพน

แอลคีน (alkene) พันธะคู่ (double bond)

propene-โพรพีน

แอลไคน์ (alkyne) พันธะสาม (triple bond)

propyne-โพรไพน์

แอโรแมติกไฮโดรคาร์บอน (aromatic hydrocarbon) พันธะเดี่ยวและพันธะคู่สลับกันเป็นวง

ethylbenzene

 

นอกจากการจำแนกสารประกอบไฮโดรคาร์บอนตามชนิดของพันธะ เรายังใช้เกณฑ์อื่น ๆ มาจำแนกสารประกอบไฮโดรคาร์บอนได้อีก เช่น จำแนกตามโครงสร้างแบ่งเป็น 2 ประเภท คือแบบโซ่เปิด (aliphatic hydrocarbon) และแบบโซ่ปิดหรือเป็นวง (alicyclic hydrocarbon และ aromatic hydrocarbon)

 

Do you know ?: พันธะต่าง ความแข็งแรงก็ต่าง

รู้ไหมว่าจริง ๆ แล้วพันธะโคเวเลนต์มี 2 ชนิด คือพันธะซิกมา (sigma bond: σ) และพันธะพาย (pi bond: π) พันธะโคเวเลนต์ทั้งสองแบบเป็นเหมือนพี่น้องสองคนที่มีคุณสมบัติแตกต่างกัน คือ

  1. พันธะซิกมา เกิดจากการสร้างพันธะระหว่างอะตอมแบบ head to head จึงแข็งแรง และไม่ว่องไวต่อปฏิกิริยา
  2. พันธะพาย เกิดจากการสร้างพันธะระหว่างอะตอมแบบ side to side จึงไม่แข็งแรงเท่าพันธะซิกมา ทำให้ว่องไวต่อการเกิดปฏิกิริยามากกว่า

ThuMN1jรูปแบบพันธะโคเวเลนต์ ขอบคุณรูปภาพจาก lavelle.chem.ucla.edu

ซึ่งในพันธะเดี่ยว พันธะคู่ และพันธะสามจะประกอบด้วยพันธะโคเวเลนต์ 1 - 2 แบบ ขึ้นอยู่กับชนิดของพันธะ โดยพันธะเดี่ยวจะประกอบด้วยพันธะซิกมา 1 พันธะ พันธะคู่ประกอบด้วยพันธะซิกมา 1 พันธะและพันธะพาย 1 พันธะ ส่วนพันธะสามประกอบด้วยพันธะซิกมา 1 พันธะและพันธะพายอีก 2 พันธะ ดังนี้

พันธะโคเวเลนต์ พันธะเดี่ยว พันธะคู่ พันธะสาม
พันธะซิกมา (sigma bond: σ) 1 1 1

พันธะพาย            (pi bond: π)

0 1 2

 

นอกจากองค์ประกอบของพันธะที่แตกต่างกัน ความแข็งแรง ความยาว และพลังงานของพันธะก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้สารประกอบไฮโดรคาร์บอนแต่ละชนิดมีคุณสมบัติที่แตกต่างกันตามไปด้วย เช่น

ความว่องไวในการเกิดปฏิกิริยา: พันธะเดี่ยว < พันธะคู่ < พันธะสาม

ความแข็งแรงของพันธะ: พันธะเดี่ยว < พันธะคู่ < พันธะสาม

ความยาวของพันธะ: พันธะเดี่ยว > พันธะคู่ > พันธะสาม

พลังงานของพันธะ: พันธะเดี่ยว < พันธะคู่ < พันธะสาม

 

คุณสมบัติของสารประกอบไฮโดรคาร์บอน

เมื่อได้รู้ว่าโครงสร้างที่แตกต่างมีผลต่อสมบัติของสารประกอบไฮโดรคาร์บอนแต่ละชนิด ในหัวข้อนี้เราจะมาดูคุณสมบัติของสารประกอบไฮโดรคาร์บอนทั้งแบบอิ่มตัวและไม่อิ่มตัว 

 

สารประกอบไฮโดรคาร์บอนแบบอิ่มตัว 

แอลเคน (alkane) 

แอลเคนเป็นสารประกอบไฮโดรคาร์บอนที่มีโครงสร้างเรียบง่ายที่สุด  โครงสร้างของแอลเคนประกอบด้วยอะตอมของไฮโดรเจนและคาร์บอน โดยอะตอมคาร์บอนจะสร้างพันธะเดี่ยวระหว่างกันเป็นโซ่ตรงหรือโซ่กิ่ง สูตรเคมีทั่วไปของแอลเคนคือ CnH2n+2 ยกตัวอย่างเช่น มีเทน (CH4) อีเทน (C2H6) โพรเพน (C3H8) แอลเคนเป็นสารประกอบไฮโดรคาร์บอนอิ่มตัว ไม่มีขั้ว ไม่ละลายน้ำ ไม่นำไฟฟ้า และไม่มีเขม่าเมื่อนำไปเผา

แอลเคน-alkane-1

ไซโคลแอลเคน (cycloalkane)

ไซโคลแอลเคนเป็นสารประกอบไฮโดรคาร์บอนที่ มีพันธะเดี่ยว ระหว่างอะตอมคาร์บอน แต่ มีโครงสร้างปิดเป็นวง ทำให้สูตรเคมีทั่วไปของไซโคลแอลเคนเป็น CnH2n (ไฮโดรเจนหายไป 2 อะตอม) ซึ่งเป็นไอโซเมอร์กับแอลคีน เราสามารถพิสูจน์ความแตกต่างระหว่างไซโคลแอลเคนและแอลคีนได้ด้วยการทดสอบความอิ่มตัว ตัวอย่างของไซโคลแอลเคน เช่น ไซโคลโพรเพน (C3H6) ไซโคลบิวเทน (C4H8) ไซโคลเพนเทน (C5H10)

cycloalkane-ไซโคลแอลเคน

ไซโคลแอลเคนมีคุณสมบัติเหมือนกับแอลเคนทุกอย่าง คืออิ่มตัว ไม่มีขั้ว ไม่ละลายน้ำ ไม่นำไฟฟ้า และไม่มีเขม่าเมื่อนำไปเผา 

 

สารประกอบไฮโดรคาร์บอนแบบไม่อิ่มตัว

แอลคีน (alkene)

แอลคีนเป็นสารประกอบไฮโดรคาร์บอนที่ มีพันธะคู่ ระหว่างอะตอมคาร์บอน 1 พันธะ มีสูตรเคมีทั่วไปเป็น CnH2n ยกตัวอย่างเช่น อีทีน (C2H4) โพรพีน (C3H6) บิวทีน (C4H8)

แอลคีน-alkene-1

เนื่องจากมีพันธะคู่อยู่ในโครงสร้าง แอลคีนจึงเป็นสารประกอบไฮโดรคาร์บอนที่ไม่อิ่มตัว ไม่มีขั้ว ไม่ละลายน้ำ ไม่นำไฟฟ้า เมื่อนำไปเผาจะมีเขม่าเล็กน้อย 

 

ไซโคลแอลคีน (cycloalkenes)

ไซโคลแอลคีนเป็นสารประกอบไฮโดรคาร์บอนที่ มีพันธะคู่ ระหว่างอะตอมคาร์บอนและ มีโครงสร้างปิดเป็นวง สูตรทั่วไปของไซโคลแอลคีนคือ CnH2n-2  ไซโคลแอลคีนจึงเป็นไอโซเมอร์กับแอลไคน์ ตัวอย่างของไซโคลแอลคีน เช่น ไซโคลโพรพีน (C3H4) ไซโคลบิวทีน (C4H6) ไซโคลเพนทีน (C5H8) ไซโคลแอลคีนมีสมบัติเหมือนกับแอลคีน คือไม่อิ่มตัว ไม่มีขั้ว ไม่ละลายน้ำ ไม่นำไฟฟ้า เมื่อนำไปเผาจะมีเขม่าเล็กน้อย

ไซโคลแอลคีน-cycloalkenes-1

แอลไคน์ (alkyne)

แอลไคน์เป็นสารประกอบไฮโดรคาร์บอนที่ มีพันธะสาม ระหว่างอะตอมคาร์บอน สูตรทั่วไปของแอลไคน์คือ CnH2n-2 ยกตัวอย่างเช่น อีไทน์ (C2H2) โพรไพน์ (C3H4) บิวไทน์ (C4H6)

แอลไคน์-alkyne-1

แอลไคน์เป็นสารประกอบไฮโดรคาร์บอนที่ไม่อิ่มตัวมากที่สุดเมื่อเทียบกับแอลเคนและแอลคีน แอลไคน์ไม่มีขั้ว ไม่นำไฟฟ้า เมื่อนำไปเผาจะเกิดเขม่ามาก (แต่น้อยกว่าแอโรแมติกไฮโดรคาร์บอน)

 

ไซโคลแอลไคน์ (cycloalkyne)

ไซโคลแอลไคน์เป็นสารประกอบไฮโดรคาร์บอนที่ เป็นวงปิด และ มีพันธะสาม ระหว่างอะตอมคาร์บอนอย่างน้อยหนึ่งพันธะ สูตรทั่วไปของไซโคลแอลไคน์คือ  CnH2n-4 ยกตัวอย่างเช่น ไซโคลออกไทน์ (C8H12) ไซโคลเดคไคน์ (C10H16) โดยไซโคลแอลไคน์จะมีสมบัติเหมือนกับแอลไคน์ คือไม่อิ่มตัวมาก ไม่มีขั้ว ไม่นำไฟฟ้า และเกิดเขม่ามากเมื่อนำไปเผา

ไซโคลแอลไคน์-cycloalkyne-2

แอโรแมติกไฮโดรคาร์บอน (aromatic hydrocarbon)

แอโรแมติกไฮโดรคาร์บอนเป็นสารประกอบไฮโดรคาร์บอนที่มีโครงสร้างเฉพาะตัวคือ เป็นวงปิด และ มีพันธะเดี่ยวสลับกับพันธะคู่ โดยทั่วไปสารประกอบแอโรแมติกมักเกิดจากอนุพันธ์ของเบนซีน (C6H6)  แต่มีสูตรทั่วไปที่ไม่แน่นอน ตัวอย่างของสารประกอบแอโรแมติก เช่น เบนซีน (C6H6) แนฟทาลีน (C10H8) แอนทราซีน (C14H10)

แอโรแมติกไฮโดรคาร์บอน-aromatic-hydrocarbon-1

สารประกอบแอโรแมติกเป็นสารประกอบที่ไม่อิ่มตัวมากที่สุดในบรรดาสารประกอบไฮโดรคาร์บอน ไม่มีขั้ว ไม่ละลายน้ำ ไม่นำไฟฟ้า และมีเขม่ามากที่สุดเมื่อนำไปเผา

 

และเมื่อเปรียบเทียบคุณสมบัติของสารประกอบไฮโดรคาร์บอนทั้ง 6 ชนิดจะสรุปได้ว่า

  1. ในกรณีที่คาร์บอนไม่เท่ากัน จุดเดือดจุดหลอมเหลวของสารประกอบไฮโดรคาร์บอนจะสูงขึ้นตามมวลโมเลกุล (จำนวนคาร์บอน) 
  2. กรณีที่จำนวนคาร์บอนเท่ากัน จุดเดือดจุดหลอมเหลวจะขึ้นอยู่กับการจัดเรียงอะตอมคาร์บอนและชนิดของสารประกอบ โดยสารประกอบไฮโดรคาร์บอนที่มีการจัดเรียงอะตอมคาร์บอนแบบเส้นตรงจะมีจุดเดือดจุดหลอมเหลวสูงกว่าสารประกอบไฮโดรคาร์บอนที่มีโซ่กิ่ง เนื่องจากการจัดเรียงอะตอมคาร์บอนเป็นเส้นตรงจะทำให้แพ็คตัวได้แน่นและมีระเบียบมากกว่า และชนิดของสารประกอบก็มีผลต่อจุดเดือดจุดหลอมเหลวเช่นกัน โดย แอโรแมติกไฮโดรคาร์บอน > แอลไคน์ > แอลเคน > แอลคีน
  3. ความอิ่มตัวของ แอลเคน > แอลคีน > แอลไคน์ > แอโรแมติกไฮโดรคาร์บอน
  4. ความสมบูรณ์ของการเผาไหม้ แอลเคน > แอลคีน > แอลไคน์ > แอโรแมติกไฮโดรคาร์บอน

แต่ปริมาณเขม่า แอโรแมติกไฮโดรคาร์บอน > แอลไคน์ > แอลคีน > แอลเคน

 

นอกจากโครงสร้างและคุณสมบัติ เรื่องราวของสารประกอบไฮโดรคาร์บอนยังมีอะไรให้เราเรียนรู้อีกมาก ไม่ว่าจะเป็นการเรียกชื่อ การหาไอโซเมอร์ และปฏิกิริยาเคมี เพื่อน ๆ สามารถรับชมต่อได้ในรูปแบบแอนิเมชันที่แอปพลิเคชัน StartDee หรือจะแวะไปทบทวนบทเรียนวิชาภาษาไทย เรื่อง ภาษาถิ่นและคำซ้อน หรือ เมทามอร์โฟซิส (metamorphosis) ในวิชาชีววิทยาก็ได้เช่นกัน

 

 

ขอบคุณข้อมูลจาก: ณัฐกร อุปถัมภ์ (ครูนัท)

 

References:

Wade, L. G. (2013). Structure and Stereochemistry of Alkanes. In Organic chemistry (8th ed., pp. 87-131). Boston: Pearson.

Lumen, L. (n.d.). Chemistry for majors. Retrieved March 21, 2021, from https://courses.lumenlearning.com/chemistryformajors/chapter/hydrocarbons/

สถาบันกวดวิชาติวเตอร์พอยท์. (2012). สารประกอบคาร์บอน. In Chemistry for high school students (4th ed., pp. 215-219). กรุงเทพฯ: ห้างหุ้นส่วนจำกัดสามลดา.

แสดงความคิดเห็น