แผนที่เฉพาะเรื่อง ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 วิชาสังคมศึกษา

แผนที่เฉพาะเรื่อง

เมื่อพูดถึงภูมิศาสตร์ สิ่งแรกที่เพื่อน ๆ นึกถึงคืออะไร ? 

ภาพแรกที่เรานึกถึงคงเป็นลูกโลกกลม ๆ หรือกระดาษแผ่นกว้างระบุชื่อประเทศกับสัญลักษณ์ต่าง ๆ ไว้ หรือเรียกสั้น ๆ ว่า 'แผนที่' นั่นเอง นอกจากเราจะใช้แผนที่เพื่อบอกเส้นทางแล้ว ยังสามารถบอกข้อมูลลักษณะภูมิประเทศ ลักษณะทางภูมิอากาศ หรือข้อมูลอื่น ๆ ทางภูมิศาสตร์ได้ในภาพกว้าง แต่ก็ใช่ว่าแผนที่ทุกชนิดจะเหมือนกันซะทีเดียว วันนี้เราเลยอยากจะชวนเพื่อน ๆ มาทำความรู้จักกับแผนที่ให้มากขึ้น โดยเฉพาะสิ่งที่เรียกว่า “แผนที่เฉพาะเรื่อง” ซึ่งจะเป็นยังไงนั้น ไปดูกันเลยดีกว่า

 

แผนที่คืออะไร ?

“แผนที่” เป็นเครื่องมือทางภูมิศาสตร์ที่ใช้บอกข้อมูลของสิ่งที่อยู่บนผิวโลก ทั้งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติและมนุษย์สร้างขึ้น ซึ่งถ่ายทอดข้อมูลนั้นลงบนแผ่นราบหรือกราฟิก โดยย่อส่วนให้เล็กลงตามขนาดที่ต้องการ

 

แผนที่มีกี่ประเภท ?

แผนที่แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ แผนที่อ้างอิง (General Reference Map) ซึ่งใช้เป็นพื้นฐานสำหรับการสร้างแผนที่ชนิดอื่น ๆ เช่น แผนที่ภูมิประเทศ ที่หลายคนอาจจะเคยเห็นอยู่บ่อย ๆ และแผนที่เฉพาะเรื่อง (Thematic Map) ซึ่งเป็นแผนที่ที่มีจุดประสงค์เพื่อแสดงข้อมูลเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะ โดยมีหลากหลายประเภทซึ่งเราจะพาเพื่อน ๆ ไปเรียนรู้กันต่อในหัวข้อถัดไป

 

แผนที่เฉพาะเรื่อง คืออะไร และมีอะไรบ้าง ?

‘แผนที่เฉพาะเรื่อง’ จะแสดงข้อมูลหรือปรากฏการณ์หนึ่ง ลงบนพื้นที่หนึ่ง โดยแบ่งออกเป็น 5 รูปแบบตามลักษณะการนำเสนอข้อมูล ได้แก่

1. แผนที่จุด (Dot Map) เป็นแผนที่ที่ใช้จุดแสดงความหนาแน่นหรือการกระจายตัวของข้อมูล เช่น แผนที่จุดแสดงความหนาแน่นของประชากร โดยบริเวณที่มีจุดกระจุกตัวอยู่จำนวนมาก แสดงว่าบริเวณนั้นมีประชากรอาศัยอยู่มาก เป็นต้น  ซึ่งหนึ่งจุดในแผนที่อาจแทนหนึ่งหน่วย (1:1) หรือแทนจำนวนที่กำหนดไว้ เช่น 1 จุด = จำนวนประชากรในจังหวัด 1,000 คน 

แผนที่เฉพาะเรื่อง-เฉพาะจุด

ภาพตัวอย่างแผนที่จุด (ขอบคุณภาพจาก GISGeography)

2. แผนที่แสดงลักษณะสัดส่วน (Proportional symbol map) เป็นแผนที่ที่ใช้สัญลักษณ์ขนาดแตกต่างกัน แสดงสัดส่วนหรือความหนาแน่นของข้อมูล เช่น บริเวณที่มีความหนาแน่นของประชากรมาก วงกลมหรือจุดที่แสดงข้อมูลจะมีขนาดใหญ่กว่า บริเวณที่มีความหนาแน่นของประชากรน้อย 

แผนที่เฉพาะเรื่อง-แสดงลักษณะสัดส่วนภาพตัวอย่างแผนที่แสดงลักษณะสัดส่วน (ขอบคุณภาพจาก GISGeography)

3. แผนที่แสดงเส้นเท่า (Isoline Map) เป็นแผนที่ที่ใช้เส้นแสดงข้อมูล เพื่อบอกความห่าง ถี่ของข้อมูล โดยแต่ละเส้นจะลากผ่านบริเวณที่ข้อมูลมีค่าเท่ากัน บางครั้งอาจใช้ระดับสีเข้ามาช่วยเพื่อแสดงถึงความแตกต่างของข้อมูล เช่น ถ้าเส้นมีความถี่มากแสดงว่ามีความต่างมาก อาจใช้สีเข้มในบริเวณดังกล่าว เป็นต้น 

แผนที่แสดงเส้นเท่า

ภาพตัวอย่างแผนที่แสดงเส้นเท่า (ขอบคุณภาพจาก ResearchGate)

4. แผนที่แสดงการเคลื่อนที่ (Flow Map) เป็นแผนที่ที่แสดงถึงการเคลื่อนย้ายของข้อมูล จากตำแหน่งหนึ่งไปยังอีกตำแหน่งหนึ่ง เช่น การอพยพย้ายถิ่นของประชากร การขนส่งสินค้า เป็นต้น

แผนที่เฉพาะเรื่อง คือ

ตัวอย่างแผนที่แสดงการเคลื่อนที่ (ขอบคุณภาพจาก Goldensoftware)

5. แผนที่โคโรเพลท (Choropleth Map) เป็นแผนที่ที่ใช้สีเข้ม-อ่อนแสดงปริมาณของข้อมูลในพื้นที่นั้น ๆ โดยสีเข้มแสดงถึงข้อมูลที่มีปริมาณมาก และสีอ่อนแสดงถึงข้อมูลที่มีปริมาณน้อย

แผนที่โคโรเพลท ตัวอย่างแผนที่โคโรเพลท (ขอบคุณภาพจาก datavizcatalogue.com)

หลังจากที่เราได้เรียนรู้เรื่องแผนที่กันไปแล้ว เพื่อน ๆ ชั้นม.3 ยังสามารถเข้าไปศึกษาบทเรียนวิชาอื่น ๆ ต่อได้ อย่างเรื่องการคิดค่าไฟฟ้า ของวิชาฟิสิกส์ หรือจะเสริมทักษะการบริหารเวลา ไปกับบทความ ใช้สองชั่วโมงให้คุ้มด้วยการบริหารเวลาแบบมะเขือเทศ Pomodoro technique และถ้าใครอยากจะเรียนกับคุณครูต่อแล้วล่ะก็ กดดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน StartDee ด้านล่างนี้ได้เลย

Banner_N-Dunk_Orange

 

แสดงความคิดเห็น