โคลนติดล้อ ตอน ความนิยมเป็นเสมียน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 วิชาภาษาไทย

Thanyarat Khotwanta ส.ค. 21, 2020 • 7 min read


โคลนติดล้อ ตอน ความนิยมเป็นเสมียน

‘โคลนติดล้อ’ พอฟังคำนี้ครั้งแรก เพื่อน ๆ คงนึกถึงภาพรถติดหล่ม หรือล้อเลอะโคลนในวันฝนตกอะไรทำนองนั้น แต่พอมาอยู่ในบทเรียนภาษาไทยชั้นม.๕ โคลนติดล้อ หมายถึง ปัญหาและอุปสรรคที่กีดขวางความเจริญของชาติ ซึ่งความหมายนี้เป็นความตั้งใจของผู้เขียนที่ต้องการเปรียบเทียบว่า โคลน คือปัญหาและอุปสรรคที่กีดขวางทางเจริญ ส่วนล้อ คือ ประเทศชาติหรือประเทศไทยของเรานั่นเอง ซึ่งบทความนี้จะพาเพื่อน ๆ ไปเรียนรู้เรื่องโคลนติดล้อ ตอน ความนิยมเป็นเสมียน กัน ถ้าเพื่อน ๆ สงสัยว่าตอนนี้เกี่ยวกับอะไร และมีที่มาที่ไปยังไง เราไปอ่านบทความกันเลยดีกว่า

แต่ถ้าเพื่อน ๆ อยากเรียนเรื่องโคลนติดล้อในรูปแบบแอนิเมชันและวิดีโอคลิปคูล ๆ คลิกดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน StartDee เลย

Banner-Green-Noey

 

ที่มาของเรื่องโคลนติดล้อ 

โคลนติดล้อ เป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๖) ซึ่งตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทยระหว่างวันที่ ๒๘ เมษายน ถึง ๑๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๕๘ และทรงพระราชนิพนธ์เป็นภาษาอังกฤษโดยใช้ชื่อว่า “Clogs on Our Wheels” ลงในหนังสือพิมพ์สยามออบเซอร์เวอร์ (Siam Observer)โดยทรงใช้พระนามแฝงว่า “อัศวพาหุ” และใช้นามแฝงนี้สำหรับบทความที่ลงในหนังสือพิมพ์ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับกิจการทหาร สงคราม เหตุการณ์บ้านเมืองทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งการปลุกใจให้คนไทยมีความตื่นตัวในการรักชาติบ้านเมืองของตน

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๖) ทรงมีพระนามเดิมว่า สมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ เป็นพระโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์โปรดงานด้านวรรณกรรมมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ และทรงมีผลงานพระราชนิพนธ์ทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง เช่น รามเกียรติ์ มัทนะพาธา เป็นต้น รวมทั้งผลงานด้านการพิมพ์ เช่น ทรงออกหนังสือพิมพ์ดุสิตสมิต และทรงเขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์ต่าง ๆ จนได้รับการยกย่องว่าทรงเป็น ‘นักหนังสือพิมพ์’

 

บทความเรื่องโคลนติดล้อ

บทความเรื่องโคลนติดล้อ มีทั้งหมด ๑๒ ตอน แต่ละตอนเป็นการนำเสนอความคิดเกี่ยวกับปัญหาและอุปสรรคที่ทำให้ประเทศไทยมีความเจริญก้าวหน้าช้ากว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งเปรียบเทียบเป็นโคลน ๑๒ ก้อน ดังนี้

๑. การเอาอย่างโดยไม่ตริตรอง

๒. การทำตนให้ต่ำต้อย

๓. การบูชาหนังสือจนเกินเหตุ

๔. ความนิยมเป็นเสมียน

๕. ความเห็นผิด

๖. ถือเกียรติยศไม่มีมูล

๗. ความจนไม่มีจริง

๘. แต่งงานชั่วคราว

๙. ความไม่รับผิดชอบของบิดามารดา

๑๐. การค้าหญิงสาว

๑๑. ความหยุมหยิม

๑๒. หลักฐานไม่มั่นคง

 

ทั้ง ๑๒ ตอนมีประเด็นที่น่าสนใจหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการแสดงให้เห็นถึงความสนพระทัยในปัญหาของเด็กและสตรีของรัชกาลที่ ๖ ซึ่งผู้คนในสมัยนั้นไม่ใคร่ให้ความสำคัญนัก นอกจากนี้บทความหลายตอนเป็นการตอบโต้ผู้ที่วิจารณ์พระองค์ท่านและพระบรมราโชบายโดยตรง จึงทำให้เกิดการตอบโต้กันระหว่างผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย กับ “อัศวพาหุ” จนกลายเป็นสงครามปากกา โดยเฉพาะผู้ที่ใช้นามปากกาว่า “โคนันทวิศาล” ที่ได้เขียนบทความเรื่อง “ล้อติดโคลน” แสดงความเห็นตอบโต้ “โคลนติดล้อ”

 

จุดประสงค์ในการแต่ง

  • เพื่อชี้ให้ผู้อ่านได้เห็นถึงปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ที่เป็นเครื่องกีดขวางเหนี่ยวรั้งความเจริญของชาติ
  • ในตอนความนิยมเป็นเสมียน รัชกาลที่ ๖ ทรงแสดงทรรศนะเกี่ยวกับปัญหาที่คนมีการศึกษาสูงนิยมแต่จะเป็นเสมียน ไม่ยอมกลับภูมิลำเนาของตนไปทำงานภาคเกษตรกรรมที่มีประโยชน์ต่อประเทศชาติมากกว่า

โคลนติดล้อภาพโคลนติดล้อ (ขอบคุณภาพจาก https://rppiyachan.files.wordpress.com/2013/10/img188.jpg)

ลักษณะคำประพันธ์

ลักษณะคำประพันธ์ของเรื่องนี้ เป็นบทความร้อยแก้ว (ความเรียงที่ไม่ได้บังคับฉันทลักษณ์หรือความคล้องจองแบบร้อยกรอง) ซึ่งหลักในการเขียนบทความที่เป็นร้อยแก้ว ประกอบด้วย ๓ ส่วนใหญ่ ๆ ดังนี้

๑. ส่วนเริ่มต้น ผู้เขียนอาจใช้ถ้อยคำสำนวนที่เร้าความสนใจให้ผู้อ่านอยากอ่านต่อ

๒. ส่วนเนื้อเรื่อง ผู้เขียนอาจบอกข้อความที่เป็นข้อเท็จจริง ข้อควรรู้ หรือข้อคิดต่าง ๆ ก็ได้

๓. ส่วนท้ายหรือตอนจบ ผู้เขียนจะสรุปให้ผู้อ่านเข้าใจเรื่องที่ได้กล่าวมาแล้ว หรืออาจฝากข้อคิดเห็นให้แก่ผู้อ่าน

 

สรุปเนื้อหาโคลนติดล้อ ตอน ความนิยมเป็นเสมียน

๑. การตั้งโรงเรียนหรือการให้โอกาสแก่ชาย หญิงได้ศึกษา ให้ผลที่ทำให้น่ารำคาญ กล่าวคือ ผู้ที่มีการศึกษานิยมเป็นเสมียน* คือ นิยมเข้ารับราชการ เพียงอย่างเดียว เพราะการได้ทำงานในออฟฟิศ ดูโก้เก๋ มีหน้ามีตา  *เสมียน ในความหมายทั่วไป หมายถึง เจ้าหน้าที่เกี่ยวกับหนังสือ (แทรกเป็นเชิงอรรถไว้ท้ายหน้านี้)

๒. รัชกาลที่ ๖ ทรงเห็นว่า เด็กพวกนี้หากนำความรู้ของตนที่ได้เรียนมากลับไปพัฒนาบ้านเกิดของตนจะเป็น ประโยชน์ต่อประเทศชาติมากกว่า แต่เด็กเหล่านั้นกลับมองว่า การทำเกษตรกรรมนั้นไม่สมเกียรติยศของ ตนเอง เพราะคนที่ได้รับการศึกษาไม่ควรเสียเวลาไปทำงานที่คนไม่มีความรู้ก็ทำได้ จึงขอทำงานอยู่ใน กรุงเทพฯ ดีกว่า

๓. คนเหล่านี้ยอมทนใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯ ทั้งที่เงินเดือนไม่มาก แต่ก็จับจ่ายทรัพย์เพื่อการต่าง ๆ มากมาย เพื่อรักษาเกียรติและหน้าตาของตน ทั้งการนุ่งผ้าม่วงสี ใส่เสื้อขาว สวมหมวกสักหลาด และเมื่อกลับจากออฟฟิศต้องสวมกางเกงแพรจีน ได้ดูหนังอย่างน้อยอาทิตย์ละ ๒ ครั้ง ต้องไปกินข้าวตามกุ๊กช้อป และอาจต้องจ่ายค่าเช่าห้อง

๔. การที่เป็นเช่นนี้ถือเป็นความผิดของเราทุกคน ถ้าคนเรายังมีค่านิยมเห็นว่าการเป็นเสมียนมีศักดิ์ศรีสูงกว่า การเป็นชาวนา ชาวสวน หรือพ่อค้า คนที่จบใหม่ก็จะทะเยอทะยานอยากเป็นแต่เสมียน (ทำงานรับราชการ) 

๕. รัชกาลที่ ๖ ทรงเห็นว่าการเป็นเสมียนมีข้อเสีย เพราะเมื่อหน่วยงานมีเสมียนมากเกินความจำเป็นก็จะคัดออก จ้างคนหนุ่มเข้ามาแทน ซึ่งเสมียนที่ถูกคัดออกจะไปทำงานที่อื่นก็ทำไม่เป็น เพราะทำงานนี้มานานแล้ว

และไม่สามารถเป็นชาวนาที่ภูมิลำเนาเดิมได้เพราะเห็นว่าไม่สมเกียรติของตน และทำใจกลับไปอยู่บ้านนอกไม่ได้ อีกทั้งไม่สามารถเป็นเจ้าของกิจการได้ เพราะไม่มีเงินลงทุน หรือไม่มีเงินเก็บ

๖. จุดจบของเสมียนเมื่อหางานทำไม่ได้ สำหรับคนที่มีความสุจริตจะเลี่ยงตายไปอย่างลับ ๆ ไม่มีใครรู้ ส่วนคนที่ทุจริตจะกระทำผิดเพื่อหาเงิน สุดท้ายก็จบชีวิตอยู่ที่คุก และอันตรธานไป ซึ่งรัชกาลที่ ๖ ทรงชี้ให้เห็นว่าเมื่อไม่ได้เป็นเสมียนแล้วก็ทำอะไรไม่เป็น จุดจบไม่ค่อยดีนัก

๗. ในตอนท้ายของบทความจบด้วยคำถามกระตุ้นให้ผู้อ่านคิดและช่วยกันเปลี่ยนค่านิยมว่าทุกอาชีพมีเกียรติเท่าเทียมกัน และควรประกอบอาชีพอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ ไม่ใช่รับราชการเพียงอย่างเดียว ดังที่กล่าวในเรื่องว่า

 

“...ดังนี้จะไม่เป็นการสมควรแลหรือ ที่เราจะสอนให้พวกหนุ่ม ๆ ของเราปรารถนาหาการงานอื่น ๆ อังพึงหวังประโยชน์ได้ดีกว่าการเป็นเสมียน ถ้าเราจะสอนเขาทั้งหลายให้รู้สึกเกียรติยศแห่งการที่จะเป็นผู้เพาะความสมบูรณ์ให้แก่ประเทศ เช่น ชาวนา ชาวสวน พ่อค้า และช่างต่าง ๆ จะไม่ดีกว่าหรือ?...”

 

พระองค์ทรงชักชวนให้ทุกคนช่วยกันเปลี่ยนค่านิยมการยกย่องอาชีพรับราชการด้วยการสอนให้คนรุ่นใหม่เห็นว่าทุกอาชีพมีเกียรติเท่ากัน ดังที่กล่าวในเรื่องว่า

 

“...ท่านเชื่อหรือว่าพวกหนุ่ม ๆ ของเราจะทำประโยชน์ให้แก่บ้านเมืองโดยทางเป็นเสมียนมากกว่าทางอื่น ๆ ? เราจะมีข้าวของเครื่องใช้อื่น ๆ ได้อย่างไรถ้าเราไม่อุดหนุนคนจำพวกที่จะเพาะของสิ่งนั้น ๆ ขึ้น ?...”

ทั้งหมดนี้เป็นการชี้ให้เห็นว่างานอาชีพอื่น ไม่ว่าจะเป็นชาวนา ชาวสวน พ่อค้า หรือช่าง ก็เป็นอาชีพที่มีประโยชน์ สำคัญต่อประเทศชาติเช่นกัน ดังนั้นควรหันไปทำงานอื่น ๆ ที่มีประโยชน์ ไม่ใช่รับราชการเพียงอย่างเดียว

 

คุณค่าด้านวรรณศิลป์

  • กลวิธีการแต่ง ผู้ประพันธ์มีกลวิธีการเขียนที่ชวนอ่าน น่าติดตาม มีการลำดับเนื้อหาเป็นขั้นตอน อ่านเข้าใจง่าย โดยแบ่งย่อหน้ายาวสั้นสลับกันไป แต่ละย่อหน้ามีเอกภาพของตน คือมีประเด็นสำคัญไม่สับสน มีสารัตถภาพ คือมีเนื้อหาสาระน่าสนใจ มีข้อคิดที่ดีแม้ผ่านกาลเวลานานแล้ว แต่ยังคงยึดถือปฏิบัติได้อยู่ มีสัมพันธภาพคือ มีการจัดลำดับความคิดได้อย่างมีระเบียบ เช่น

 

“...ข้าพเจ้าเองได้เคยพบเห็นพวกหนุ่ม ๆ ชนิดนี้หลายคน เป็นคนฉลาดและว่องไว และถ้าหากเขาทั้งหลายนั้นไม่มีความกระหายจะทำงานอย่างที่พวกเขาเรียกกันว่า “งานออฟฟิศ” มากีดขวางอยู่แล้วเขาก็อาจจะทำประโยชน์ได้มาก...”

 

  • การใช้โวหาร ทำให้ผู้อ่านเห็นภาพ เข้าใจชัดเจนยิ่งขึ้น อย่างชื่อเรื่อง “โคลนติดล้อ” เป็นการใช้

ภาพพจน์ประเภทอุปลักษณ์ ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบสิ่งหนึ่งเป็นอีกสิ่งหนึ่ง โดยผู้แต่งจะนำลักษณะเด่นของสิ่งที่ต้องการเปรียบเทียบมากล่าวทันทีโดยไม่มีคำเชื่อมโยง และบางครั้งอาจใช้คำว่า เป็น คือ มาเชื่อมโยงก็ได้ โดยอุปลักษณ์ในเรื่องโคลนติดล้อ มีการเปรียบคำว่า โคลน หมายถึง ปัญหาและอุปสรรคที่กีดขวางความเจริญของประเทศชาติ ส่วนคำว่า ล้อ หมายถึง ประเทศชาติ

 

  • การใช้ภาษาในการดำเนินเรื่อง พระองค์ทรงใช้วิธีกระตุ้นความคิดของผู้อ่านด้วยการใช้ประโยค

คำถามอยู่เสมอ แม้บางครั้งคำถามนั้นอาจจะไม่ต้องการคำตอบหรือเรียกว่า คำถามเชิงวาทศิลป์ เช่น 

“...เราจะมีข้าวของเครื่องใช้อื่น ๆ ได้อย่างไรถ้าเราไม่อุดหนุนคนจำพวกที่จะเพาะสิ่งของนั้น ๆ ขึ้น?...”

นอกจากตัวอย่างข้างต้น พระองค์ทรงใช้ภาษาโน้มน้าวใจ เพื่อให้ผู้อ่านเกิดความคิดคล้อยตาม เช่น

“...ท่านทั้งหลายจะช่วยได้เป็นอันมากด้วยความเห็นของท่าน เพราะว่าถึงแม้พวกหนุ่ม ๆ นั้นจะมีความคิดเห็นว่าตัวสำคัญปานใด ก็คงจะต้องฟังความเห็นของผู้อื่น ถ้าความเห็นของสาธารณชนเห็นว่าชาวนาชาวสวน พ่อค้าและช่างต่าง ๆ มีเกียรติยศเสมอเสมียน และไม่ยกเสมียนขึ้นลอยไว้ในที่อันสูงเกินกว่าควร ก็จะเป็นประโยชน์ช่วยเหลือได้มาก...”

 

คุณค่าด้านเนื้อหา

  • รูปแบบ : เป็นงานเขียนประเภทร้อยแก้วที่มีเนื้อหาสร้างสรรค์และทรงคุณค่า ถือได้ว่าใช้รูปแบบงานเขียนได้อย่างเหมาะสมกับเนื้อหา
  • สาระ : เป็นการแสดงแนวความคิดเรื่องค่านิยมเกี่ยวกับอาชีพที่คนทั่วไปมักยกย่อง นั่นคือ ข้าราชการ ทำให้มองข้ามประโยชน์หรือความสำคัญของอาชีพอื่น ๆ เสมือนเป็นโคลนที่ติดล้อ หรือเป็นอุปสรรคทำให้ประเทศเจริญไปได้ช้า
  • โครงเรื่อง : ลำดับเรื่องตามลักษณะของบทความ ซึ่งมีองค์ประกอบ ๓ ส่วนได้แก่

๑. ส่วนนำ กล่าวถึงข้อความที่ต่อเนื่องจากบทที่ ๓ เรื่องการบูชาหนังสือจนเกินเหตุ

๒. เนื้อเรื่อง เนื้อหามีความเชื่อมโยงกันเป็นลำดับตั้งแต่การตั้งความหวังในอนาคตเมื่อเรียนจบว่าจะต้องเป็นเสมียนหรือข้าราชการ โดยไม่คำนึงถึงว่าสังคมไทยเป็นสังคมเกษตรกรรม

๓. ส่วนสรุป ผู้ประพันธ์ได้กล่าวถึงแนวทางการแก้ปัญหาและใช้กลวิธีการปิดเรื่องโดยใช้คำถามในบรรทัดสุดท้ายว่า “เพราะฉะนั้นท่านจะไม่ช่วยกันในทางนี้บ้างหรือ ?” เพื่อกระตุ้นให้ผู้อ่านคิดและร่วมกันแก้ไขปัญหา

การแต่งกายในสมัยรัชกาลที่ 6

ภาพการแต่งกายของข้าราชการในสมัยรัชกาลที่ 6 (ขอบคุณภาพจาก https://sites.google.com/site/namfoun47027/smay-ratnkosinthr/smay-rach-kar-thi-6)

คุณค่าด้านสังคม

  • โคลนติดล้อเป็นบทความที่ทรงคุณค่าเหนือกาลเวลา : แม้เวลาจะผ่านมานานแล้ว แต่ปัญหาที่รัชกาลที่ ๖ ทรงนำเสนอในบทความนี้ก็ยังคงเป็นปัญหาที่อยู่ในสังคมไทยทุกวันนี้
  • สะท้อนสภาพสังคมและค่านิยมของคนไทยในสมัยรัชกาลที่ ๖ : ค่านิยมของสังคมที่ยกย่องการเป็นข้าราชการ ดังที่กล่าวในเรื่องว่า

“...เด็กทุก ๆ คนซึ่งเล่าเรียนสำเร็จออกมาจากโรงเรียนล้วนแต่มีความหวังฝังอยู่ว่าจะได้มาเป็นเสมียนหรือเป็นเลขานุการ และจะได้เลื่อนยศเลื่อนตำแหน่งขึ้นเร็ว ๆ เป็นลำดับไป เด็กที่ออกมาจากโรงเรียนเหล่านี้ย่อมเห็นว่ากิจการอย่างอื่นไม่สมเกียรติยศนอกจาการเป็นเสมียน...”

  • ให้ข้อคิดเพื่อนำไปใช้ในการดำเนินชีวิต : เรื่องโคลนติดล้อให้ข้อคิดแก่คนในสังคมไทยว่าไม่ควรดูถูกอาชีพอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นอาชีพเกษตรกรรม พ่อค้า ช่าง เป็นต้น เพราะไม่ว่าอาชีพใดต่างก็มีเกียรติ และยังให้ข้อคิดว่าไม่ควรใช้จ่ายเกินฐานะทางเศรษฐกิจของตน รวมทั้งเตือนสติให้ผู้ที่มีค่านิยมผิด ๆ เห็นแก่ความสุข ความสะดวกสบายในเมืองหลวง ให้รู้จักใช้ความรู้ ความสามารถของตนสร้างประโยชน์ให้แก่สังคมและท้องถิ่นของตน

พออ่านเรื่องราวโคลนติดล้อ ตอน ความนิยมเป็นเสมียนแล้ว หากเพื่อน ๆ ลองมองสังคมในยุคปัจจุบันอาจพบปัญหาในลักษณะที่คล้ายคลึงกันนี้ โดยเฉพาะค่านิยมเรื่องอาชีพ ว่าบางอาชีพดูมีเกียรติ มีศักดิ์ศรีมากกว่าอาชีพอื่น ๆ ทั้งที่ความจริงแล้ว ทุกอาชีพล้วนมีเกียรติ มีศักดิ์ศรีและมีคุณค่าเท่าเทียมกัน ประเด็นนี้จึงเป็นสิ่งที่สะท้อนและให้แง่คิดเกี่ยวกับสังคมไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๖ มาจนถึงปัจจุบันเลยทีเดียว 

นอกจากวิชาภาษาไทยแล้ว เพื่อน ๆ ชั้นม.๕ ยังสามารถเข้าไปอ่านวิชาอื่น ๆ เพิ่มเติมอย่างเรื่องความเครียดของพืช ในวิชาชีววิทยา เรื่องการทดลองสุ่มและเหตุการณ์ ในวิชาคณิตศาสตร์ เรื่องแผ่นดินถล่มและแผ่นดินทรุด ในวิชาสังคมศึกษาหรือเรื่องการเกิดคลื่น ในวิชาฟิสิกส์ แต่ถ้าอยากเรียนกันแบบเต็มอิ่มกับคุณครูของ StartDee ล่ะก็ คลิกโหลดแอปพลิเคชันที่แบนเนอร์ข้างล่างนี้ได้เลย

Banner-Green-Standard

ขอบคุณข้อมูลจากนางสาวสิริพัชร์ ชัยกิตติภรณ์  (ครูดรีม) และนางสาวณิชาบูล พ่วงใส (ครูใหม่)

รู้หรือไม่ ?

  • ผ้าม่วง หมายถึง ผ้านุ่งแบบโจงกระเบนของข้าราชการผู้ชายสมัยก่อน
  • หมวกสักหลาด หมายถึง หมวกที่ตัดเย็บด้วยผ้าขนสัตว์
  • กุ๊กช้อป หมายถึง ภัตตาคารที่มีพ่อครัวทำอาหารฝรั่ง ซึ่งคำนี้มาจากคำว่า cookshop
  • เสมียน (อ่านว่า สะ-เหมียน) ในความหมายทั่วไป หมายถึง เจ้าหน้าที่เกี่ยวกับหนังสือ หรือตำแหน่งเจ้าหน้าที่ระดับล่างที่มีหน้าที่เกี่ยวกับการเขียนหนังสือ แต่ในเรื่องนี้ หมายถึง การทำงานรับราชการ

 

แสดงความคิดเห็น