Anti-vaxxer คืออะไร เกี่ยวข้องยังไงกับการไม่ฉีดวัคซีนโควิด-19

Anti Vaxxer คืออะไร

ในขณะที่ประเทศไทยของเราอยู่ในการระบาดเป็นรอบที่ 3 และมีผู้ที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มเพียงแค่ 0.1% เท่านั้น (ข้อมูลวันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2564) แต่ในหลาย ๆ ประเทศเช่น อิตาลีมีผู้ที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้วถึง 7.4%, สหราชอาณาจักร 14.9%, สหรัฐอเมริกา 25.7% และ อิสราเอล 55.0% เป็นต้น 

แม้ในประเทศดังกล่าวรวมถึงประเทศอื่น ๆ จะมีวัคซีนต้านโควิด-19 ให้บริการฟรี ๆ กันอย่างแพร่หลาย แต่กลับมีกลุ่มคนจำนวนไม่น้อยที่เลือกไม่ฉีดวัคซีน อีกทั้งยังรวมกลุ่มกันประท้วงการบังคับฉีดวัคซีนของรัฐบาลด้วย อิหยังกันละเนี่ย ! วันนี้ StartDee จะพาเพื่อน ๆ ไปรู้จักคนกลุ่มนี้กัน ขอบอกว่าประวัติความเป็นมายาวนานกว่าที่เพื่อน ๆ คิดแน่นอน

ถ้าอยากรู้เรื่องราวเกี่ยวกับโควิด-19 มากขึ้น ติดตามอ่านได้ที่บทความนี้

Anti-vaxxer คืออะไร

Anti-vaxxer แปลเป็นภาษาไทยได้ว่า ผู้ต่อต้านการฉีดวัคซีนทั้งต่อตนเอง และการฉีดวัคซีนให้ลูกหลาน ซึ่งอาจเกิดจากเหตุผลหลาย ๆ อย่าง โดยส่วนใหญ่มองว่าไม่ปลอดภัย อีกทั้งยังเป็นการละเมิดสิทธิในร่างกายของผู้คนอีกด้วย กลุ่มผู้ต่อต้านการฉีดวัคซีนมีมากมายทุกมุมโลก ทั้งประเทศที่วิทยาศาสตร์ก้าวหน้าอย่างสหรัฐอเมริกา และประเทศไทยของเราด้วย

 

โรคฝีดาษและต้นกำเนิดวัคซีนชนิดแรกของโลก

ก่อนที่เราจะพูดถึง Anti-vaxxer StartDee ขอเล่าย้อนไปถึงวันที่วัคซีนชนิดแรกถือกำเนิดขึ้นมาในโลกกันก่อน ซึ่งก็คือวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษหรือไข้ทรพิษ (Smallpox) ที่จะถูกฉีดในขณะที่ดำเนินการปลูกฝีนั่นเอง ซึ่งในปัจจุบันองค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้หยุดการฉีดวัคซีนชนิดนี้ลงแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2513 (สำหรับใครที่คลำเจอรอยแผลเป็นที่แขนซ้าย ขอให้รู้ไว้ว่าเป็นการปลูกฝีเพื่อฉีดวัคซีนป้องกันวัณโรคนะจ๊ะ ไม่ใช่เพื่อป้องกันโรคฝีดาษ) เนื่องจากมวลมนุษยชาติสามารถเอาชนะโรคร้ายนี้ได้แล้วนั่นเอง เย้ !

วัคซีนป้องกันโรคฝีดาษถูกคิดค้นครั้งแรกใบปีพ.ศ. 2339 โดยนายแพทย์ชาวอังกฤษชื่อ เอ็ดเวิร์ด เจนเนอร์ (Edward Jenner) เขาสังเกตเห็นว่าหญิงสาวที่ดูแลวัวหลายคนมักมีแผลที่เกิดจากฝีดาษวัว (Cowpox) แต่พวกเธอกลับไม่เคยติดเชื้อและเป็นโรคฝีดาษชนิดที่เกิดขึ้นในคนเลย นายแพทย์เอ็ดเวิร์ดจึงตั้งสมมติฐานว่าเชื้อฝีดาษวัวน่าจะช่วยป้องกันการเกิดโรคฝีดาษได้

Smallpox-ฝีดาษ-ไข้ทรพิษแสดงภาพทารกชาวปากีสถาน ได้รับฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันการระบาด
ของโรคฝีดาษในช่วงปี 1967-1977 ขอบคุณภาพจาก
จาก britanica.com 

คุณหมอเอ็ดเวิร์ดจึงไม่รอช้า ทำการทดลองด้วยการเก็บเชื้อจากสาวรีดนมวัวชื่อซาราห์ เนล์มส์ (Sarah Nelmes) แล้วทำการปลูกฝีโดยใช้เชื้อชนิดนี้ให้กับเด็กชายอายุ 9 ปีชื่อเจมส์ ฟิบส์ (James Fibbs) หลายต่อหลายครั้ง ปรากฏว่าเด็กชายเจมส์ไม่เป็นโรคฝีดาษเลยสักครั้งเดียว นอกจากนี้ นายแพทย์เอ็ดเวิร์ดยังได้ทำการทดลองกับคนอื่น ๆ อีก จนสามารถสรุปได้ในปีพ.ศ. 2344 ว่าการปลูกฝีและฉีดวัคซีน คือความหวังในการเอาชนะโรคฝีดาษนั่นเอง

 

กล้าดียังไงเอาเชื้อจากวัวมาฉีดให้ลูกฉัน
...ดราม่าเรื่องวัคซีนจากเกาะอังกฤษ

แม้ว่าวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษของเอ็ดเวิร์ด เจนเนอร์จะได้รับการพิสูจน์ว่ามีประสิทธิภาพและถูกใช้อย่างแพร่หลาย แต่แน่นอนว่าบรรดาพ่อแม่ชาวอังกฤษหลาย ๆ คนกลัวว่าวัคซีนจะก่อให้เกิดอันตราย ทั้งในด้านสุขอนามัย และในเชิงศาสนา เพราะเป็นการเอาเชื้อจาก “สัตว์” มาฉีดเข้าใส่ร่างกายมนุษย์ ดูแล้วช่าง “ไม่มีความเป็นชาวคริสต์ที่ดี” เอาเสียเลย 

จากเหตุผลดังกล่าว ทำให้หลาย ๆ คนเลือกที่จะไม่ฉีดวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษ และยังต่อต้านอย่างรุนแรงเมื่อทางรัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักรออกกฏบังคับให้ทุกคนฉีดวัคซีนชนิดนี้ (หากไม่ฉีด ถือว่าผิดกฎหมาย) โดยเฉพาะที่เมืองเลสเตอร์ (Leceister) ถึงขั้นมีการตีพิมพ์บทความ และมีผู้ออกมาประท้วงถึง 80,000 - 100,000 คน ด้วยเหตุนี้ ทางรัฐบาลจึงได้ทำการศึกษาวิจัยเพิ่มเติม แล้วก็ได้ผลยืนยันที่แน่ชัดว่าการฉีดวัคซีนสามารถป้องกันการเกิดโรคฝีดาษได้จริง แต่ก็ได้ถอดถอนบทลงโทษสำหรับผู้ปกครองที่ยืนยันจะไม่ฉีดวัคซีนให้บุตรหลานของตน

 

อเมริกาเล่นใหญ่กับบรรดาสมาคมเกิดใหม่
เพื่อต่อต้านวัคซีนโดยเฉพาะ

ในอังกฤษว่าดราม่าแล้ว ที่อเมริกาดราม่าจริงจังกว่ามาก ถึงขั้นมีการก่อตั้ง The Anti Vaccination Society of America ในปีพ.ศ. 2422 ตามด้วย The New England Anti Compulsory Vaccination League ในปีพ.ศ. 2425 และ The Anti-vaccination League of New York City ในปี พ.ศ. 2427 ซึ่งรวมกันต่อต้านกฏหมายที่บังคับให้ฉีดวัคซีนในรัฐต่าง ๆ ทั้งในแคลิฟอร์เนีย อิลลินอยส์ และวิสคอนซิน

Anti-Vaccination_Society_of_America_advertisement_from_1902

แสดงภาพโฆษณาเชิญชวนให้เข้าร่วมสมาคมต่อต้านการฉีดวัคซีน
ขอบคุณรูปภาพจาก wikipedia

แต่เหตุการณ์ใหญ่จริง ๆ คือการที่นายเฮนนิง จาคอบสัน ปฎิเสธการฉีดวัคซีนตามกฏหมาย เพราะเชื่อว่าเป็นการละเมิดสิทธิเหนือร่างกายของเขา ซึ่งทางรัฐแมสซาชูเซตส์ได้ฟ้องร้องกลับ แต่นายเฮนนิงเองก็ไม่ยอมแพ้ง่าย ๆ เขาได้ยื่นเรื่องต่อไปที่ศาลฎีกาสูงสุดแห่งสหรัฐอเมริกา ที่ก็ดันเห็นด้วยกับทางรัฐแมสซาชูเซตส์ เพราะมองว่าแต่ละรัฐย่อมสามารถออกกฎหมายเพื่อปกป้องสาธารณชนจากโรคติดต่อได้

 

รู้จัก MMR วัคซีนที่ผู้ต่อต้านเชื่อว่า
ทำให้เกิดภาวะออทิสติก

MMR (Measles, Mumps, and Rubella Vaccination) คือวัคซีนป้องกันโรคหัด โรคคางทูม และโรคหัดเยอรมัน ที่กลุ่มผู้ต่อต้านเชื่อว่าทำให้เกิดภาวะออทิสติกในเด็กในปีพ.ศ. 2540

จริง ๆ แล้วต้นตอของความกังขาต่อวัคซีน MMR เกิดขึ้นจากบทความของนายแพทย์แอนดรูว์ เวกฟิลด์ (Andrew Wakefield) ในวารสารทางการแพทย์ที่มีชื่อเสียงอย่าง The Lancet  ที่ระบุว่าวัคซีน MMR ทำให้เกิดภาวะออทิสติกในเด็กเพิ่มมากขึ้น ซึ่งถือเป็นการลดความน่าเชื่อถือของวัคซีนอย่างมาก ส่งผลให้เกิดการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับความเชื่อมโยงระหว่างวัคซีน MMR และภาวะออทิสติกหลายครั้ง แต่ก็ไม่พบว่ามีความสัมพันธ์กัน อีกทั้งเด็ก ๆ หลาย ๆ คนก็มีภาวะออทิสติกก่อนได้รับวัคซีนชนิดนี้เสียอีก

Andrew-Wakefeild-MMR-Scandal
กลุ่มผู้สนับสนุนนายแพทย์แอนดรูว์ เวกฟิลด์ บริเวณด้านหน้าตึก GMC กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ
ขอบคุณรูปภาพจาก irishtimes.com

สุดท้าย นายแพทย์แอนดรูว์ถูกเพิกถอนใบอนุญาตในการรักษา รวมถึงถูกถอดบทความออกจากวารสารด้วย แต่กลุ่ม Anti-vaxxer ก็ยังคงเชื่อเนื้อหาในบทความอยู่อย่างไม่ยอมเปลี่ยนแปลง แถมยังทวีความรุนแรงขึ้นอีกด้วย



23 ปีต่อมากับการรณรงค์ไม่ฉีดวัคซีนโควิด-19
ของกลุ่มผู้ต่อต้าน

ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษหรือโรคหัด โรคคางทูม และโรคหัดเยอรมัน ต่างก็ได้รับการวิจัยมาอย่างยาวนานก่อนใช้กันอย่างแพร่หลาย แต่ก็ยังมีผู้ต่อต้านอยู่ดี จึงไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่วัคซีนป้องกันโควิด-19 ทั้งชนิด mRNA, Viral Vector, Inactivated Virus และ Protein Subunit จะได้รับการต่อต้านเป็นวงกว้างไม่ต่างกัน (ไป ๆ มา ๆ มากกว่าด้วย) เพราะใช้เวลาในการวิจัยทดลองราว ๆ 1 ปีเท่านั้น

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือการปะทะของผู้ประท้วงและเจ้าหน้าที่ในเมืองเมลเบิร์น โดยผู้ประท้วงเชื่อว่ารัฐและบริษัทผู้ผลิตยาใช้ชีวิตประชาชนเป็นหนูทดลอง ในขณะที่บางส่วนมองว่าไม่ควรมีการบังคับให้ฉีดวัคซีน ควรจะให้เป็นความสมัครใจของประชาชนมากกว่า ส่วนในประเทศสหรัฐอเมริกาก็ไม่ต่างกัน หลังจากบริษัทแฟรนไชส์โดนัทชื่อดังอย่าง Krispy Kream’s ออกแคมเปญโฆษณาให้ประชาชนที่เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 แล้วสามารถมารับโดนัทได้ฟรีวันละ 1 ชิ้นตลอดทั้งปี ก็เกิดกระแสต่อต้านจากกลุ่ม Anti-vaxxer มากมายในโซเชียลมีเดีย มีการว่ากล่าวว่าบริษัทไม่สนับสนุนกลุ่มคนที่มีภูมิคุ้มกันอยู่แล้ว กลุ่มคนที่เลือกดูแลตัวเองด้วยวิธีธรรมชาติ ไปจนถึงกลุ่มคนที่มองว่ามีสิทธิเหนือร่างกายตัวเอง (My body, my choice) มิหนำซ้ำยังกล่าวหาว่าเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่ยุติธรรมอีกด้วย จนสุดท้าย Krispy Kream’s ก็ต้องยกเลิกแคมเปญนี้ไปในที่สุด

KrispyKremeVaccineขอบคุณรูปภาพจาก www.fourstateshomepage.com

อย่างไรก็ตาม เรื่องผลข้างเคียงของวัคซีนจากแต่ละบริษัทก็อาจก่อให้เกิดความไม่สบายใจในหมู่ประชาชนได้ เช่นวัคซีนจากบริษัทแอสตร้า เซเนกา (Astra Zeneca) อาจทำให้เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันได้ (แต่ก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้ยากมาก) ส่วนวัคซีนจากไฟเซอร์ (Pfizer) อาจทำให้เกิดโรคใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีกได้ (แต่ก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้ยากมากเช่นกัน ไม่ถึง 0.5% ของผู้ที่รับวัคซีนด้วยซ้ำ)

คงต้องมาคอยดูกันว่า วัคซีนโควิด-19 จะทำให้เกิดผู้เสียชีวิต หรือมีผลกระทบกับร่างกายมนุษย์มากขนาดที่เหล่า Anti-vaxxer กลัวจริง ๆ หรือไม่ หรืออาจเป็นเพียงแค่ความเชื่อเหมือนคราวที่เกิดความหวาดกลัววัคซีนรักษาโรคฝีดาษในอดีต

References :

https://www.medicalnewstoday.com/articles/anti-vaxxer

https://www.cdc.gov/smallpox/history/history.html

https://ftp.historyofvaccines.org/content/articles/history-anti-vaccination-movements

https://www.publichealth.org/public-awareness/understanding-vaccines/vaccine-myths-debunked/

https://www.bangkokhospital.com/content/know-well-before-getting-the-covid-19-vaccine

https://www.vice.com/en/article/wx8vjx/anti-vaxxers-are-already-big-mad-about-krispy-kremes-free-doughnut-offer

https://www.healthline.com/health-news/what-we-know-about-the-side-effects-of-pfizers-covid-19-vaccine#Serious-adverse-events-are-rare

https://www.ema.europa.eu/en/news/astrazenecas-covid-19-vaccine-ema-finds-possible-link-very-rare-cases-unusual-blood-clots-low-blood

แสดงความคิดเห็น