จัดโต๊ะอ่านหนังสือในห้องนอนยังไง...ให้ไม่น่านอน

จัดโต๊ะอ่านหนังสือในห้องนอน

ช่วงใกล้สอบที่ต้องอ่านหนังสือดึก หรือวันที่ต้องทำการบ้านตอนเย็น คงเป็นช่วงที่โต๊ะอ่านหนังสือในห้องนอนของเราไม่เหงาอีกต่อไป แต่ปัญหาที่มักจะเจอบ่อย ๆ คือ โต๊ะหนังสือกลายเป็นที่ฟุบหลับของหลายคนไปซะงั้น ซึ่งนอกจากจะไม่ได้อ่านแล้ว การฟุบนอนบนโต๊ะหนังสือยังไม่ดีต่อร่างกายของเราอีกด้วย วันนี้เราเลยอยากชวนเพื่อน ๆ ลองมาจัดโต๊ะอ่านหนังสือในห้องนอน ให้บรรยากาศไม่น่านอนอีกต่อไป ด้วยเทคนิคต่อไปนี้

1. หา Reference 

นอกจากความยากง่ายของเนื้อหาบทเรียนแล้ว สภาพแวดล้อมรอบตัวเรายังส่งผลต่อการเรียนรู้เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะเด็กวัยเรียนอย่างพวกเรา ซึ่งมีงานวิจัยที่กล่าวว่า พื้นที่ที่สะดวกสบาย คุ้นเคยและไม่มีสิ่งรบกวนนั้นส่งผลต่อการรับข้อมูลและการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ ดังนั้นเราควรเริ่มจากการจัดพื้นที่อ่านหนังสือให้รู้สึกว่า “นี่แหละที่ของเรา” ด้วยการจัดโต๊ะตามสไตล์ที่เราชอบ ถ้านึกภาพไม่ออกอาจจะลองหา Reference ตามแหล่งต่าง ๆ เช่น Pinterest  Instagram หรือเริ่มง่าย ๆ ด้วยการเสิร์ชในช่องค้นหาของ Google เพื่อให้เราเห็นภาพทั้งโทนสี วัสดุต่าง ๆ แต่ไม่จำเป็นต้องซื้อตามแบบนั้นเป๊ะ ๆ นะ แค่ลองจัดวางของชิ้นเดิมในมุมใหม่ หรือหาวัสดุในห้องมา D.I.Y. ให้ใกล้เคียงกับ Reference ที่ชอบก็ช่วยประหยัดงบแถมเก๋ไม่ซ้ำใครเลยล่ะ

จัดโตีะอ่านหนังสือ

ขอบคุณภาพจาก pinterest 

2. จัดแสง เลือกโคมไฟ

รู้ไหมว่าแสงไฟก็มีผลต่อสมาธิเวลาเราอ่านหนังสือเหมือนกันนะ ซึ่งมีงานวิจัยที่กล่าวว่า แสงสีเหลืองอบอุ่นเหมือนในร้านอาหารหรือในโรงแรมนั้น ช่วยให้เรารู้สึกผ่อนคลาย จึงไม่น่าแปลกใจที่แสงสีนี้ชวนให้เราอยากจะวางงานแล้วทิ้งตัวลงบนที่นอนหรือดื่มด่ำกับรสชาติอาหารมากกว่าการใช้สมาธิอ่านหนังสือ โคมไฟสีนี้เลยเหมาะกับวันสบาย ๆ หรืองานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์เพราะช่วยให้เรารู้สึกผ่อนคลายพร้อมที่จะคิดไอเดียใหม่ ๆ 

ส่วนแสงที่ขยับขึ้นมาโทนเย็นอีกสักหน่อยซึ่งเป็นแบบหลอดไฟทั่วไป (Cool White) นั้นเหมาะกับการอ่านหนังสือหรือทำการบ้านในวันปกติ และแสงสว่างโทนเย็นขึ้นมาหน่อย จะช่วยให้เราโฟกัสกับเรื่องที่ต้องใช้สมาธิ หรือเรื่องยาก ๆ ที่ต้องใช้เวลาทำความเข้าใจได้ดีขึ้น 

จัดโต๊ะอ่านหนังสือ

ขอบคุณภาพจาก bulbtronics.com 

ดังนั้น ถ้าเพื่อน ๆ กำลังจะอ่านหนังสือหรือทำการบ้านในห้องนอน ก็สามารถเลือกเปิดไฟในห้อง เปิดโคมไฟ หรือเลือกโทนสีของแสงให้สอดคล้องกับพฤติกรรมส่วนใหญ่ของเราได้ เช่น บางคนใช้เวลาอ่านหนังสือในห้องสมุดหรือร้านกาแฟมากกว่าที่บ้าน ก็อาจจะใช้โคมไฟที่มีแสงโทนอุ่น ๆ เหมาะสำหรับการกลับมาพักผ่อนหรือทบทวนบทเรียนกรุบกริบก่อนนอน เป็นต้น นอกจากนี้สิ่งสำคัญที่เพื่อน ๆ ต้องไม่ลืม คือการจัดแสงสว่างให้เพียงพอและจัดตำแหน่งโคมไฟไว้ตรงข้ามกับมือที่เราถนัด เพื่อไม่ให้เกิดเงาบังขณะที่เราทำงานจนเสียสายตาได้

Banner_N-Dunk_Blue-2

 

3. โทนสีเป็นมากกว่าความสวย

สำหรับสีสันของอุปกรณ์บนโต๊ะอ่านหนังสือ ก็ส่งผลต่อสมาธิในการอ่านเหมือนกันนะ ซึ่ง Dr. Robert Gerard ได้ศึกษาเกี่ยวกับจิตวิทยาของสีกับการเรียนรู้ พบว่า แต่ละสีมีความยาวคลื่น (wavelength) ที่เฉพาะเจาะจงซึ่งส่งผลต่อการทำงานของร่างกายและสมองที่แตกต่างกัน โดยสีที่เหมาะกับการเรียนรู้ มีดังนี้

1. สีฟ้า: เหมาะสำหรับการทำความเข้าใจเรื่องยาก ๆ เพราะช่วยให้เรารู้สึกสงบ ผ่อนคลายในตอนที่ต้องใช้ความคิดเยอะ ๆ หรือแก้ปัญหาที่ซับซ้อน

จัดโต๊ะอ่านหนังสือในห้องนอน

ขอบคุณภาพจาก pinterest

2. สีเขียว: ช่วยทำให้เราโฟกัสสิ่งต่าง ๆ ได้ดี มีสมาธิจดจ่อกับสิ่งต่าง ๆ ได้นานขึ้น ตรงข้ามกับสีแดงที่กระตุ้นให้เกิดความรู้สึกตื่นเต้น

จัดโต๊ะอ่านหนังสือในห้องนอน

ขอบคุณภาพจาก pinterest

3. สีส้ม: ช่วยให้อารมณ์ดีและมีพลังพร้อมเรียนรู้ แต่เราแนะนำว่าให้เป็นสีส้มอ่อน ๆ หรือไม่ก็เลือกเป็นองค์ประกอบเล็ก ๆ ที่วางบนโต๊ะหนังสือให้เรามองไปแล้วรู้สึกดี เพราะถ้าสีส้มจัดหรือเยอะเกินไป คงชวนให้เรารู้สึกแสบตาหรือรู้สึกอะเลิร์ตมากกว่าจะมีสมาธิ

จัดโต๊ะอ่านหนังสือในห้องนอน

ขอบคุณภาพจาก pinterest

ถ้าเพื่อน ๆ คนไหนไม่ได้มีสีที่ชอบเป็นพิเศษ หรืออยากจะลองปรับโทนสีของโต๊ะอ่านหนังสือให้เหมาะกับพฤติกรรมการใช้งานก็ลองปรับตามนี้กันได้เลยนะ

 

4. เลือกเพลงที่ใช่

หลายคนอาจจะเปิดเพลงในคอมพิวเตอร์ ไอแพด โทรศัพท์มือถือหรืออุปกรณ์อื่น ๆ บนโต๊ะหนังสือด้วย โดยในช่วงที่เราต้องการสมาธิ ถ้าฟังเพลงที่มีเนื้อร้องอาจจะทำให้เราโฟกัสไปที่เนื้อหาหรือความหมายของเพลงมากกว่าเนื้อหาในหนังสือหรือการบ้านที่ทำอยู่ ดังนั้น การฟังเพลงบรรเลงเลยเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับคนที่อ่านเงียบ ๆ แล้วรู้สึกง่วง ๆ โดยเรามีเทคนิคการเลือกเพลงมาฝากดังนี้

  • เพลงคลาสสิก : แม้ว่าหลายคนอาจะเคยได้ยินการทดลองของคุณ Francis Rauscher เรื่องความฉลาดกับการฟังเพลงของโมซาร์ด (Mozart) ซึ่งถูกตีความผิดเพี้ยนไปว่าช่วยให้คนฟังฉลาดรอบด้าน แต่จริง ๆ แล้วการทดลองนี้พูดถึงเฉพาะสติปัญญาในเชิงมิติสัมพันธ์ (spatial intelligence) เช่น การมองรูปร่าง รูปทรงของสิ่งต่าง ๆ หรือการแก้โจทย์ปัญหา ดังนั้นถ้าเพื่อน ๆ ทำการบ้านหรืออ่านหนังสือที่ต้องอาศัยทักษะด้านมิติสัมพันธ์นี้ การเปิดเพลงคลาสสิกคลอไปก็น่าจะช่วยให้เรามีสมาธิได้มากขึ้นเหมือนกัน
  • เสียงธรรมชาติ: แต่ถ้าใครไม่ใช่สายเพลงคลาสสิกก็มีงานวิจัยที่บอกว่า เสียงธรรมชาตินั้นช่วยให้เรามีสมาธิ และดีต่อกระบวนการคิดของเราด้วย เช่น เสียงฝน เสียงคลื่น เสียงน้ำไหล ที่มีให้เราเปิดฟังในยูทูบเยอะแยะเลย
  • เพลงที่มีจังหวะระหว่าง 50-80 ครั้งต่อนาที : นอกจากประเภทของเพลงที่ทำให้เราโฟกัสกับสิ่งต่าง ๆ ได้ดีขึ้นแล้ว จังหวะก็เกี่ยวข้องด้วยนะเออ โดยเฉพาะเพลงที่มีจังหวะระหว่าง 50-80 ครั้งต่อนาที (beats per minute) นั้นช่วยกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์และทำให้เกิดโมเมนต์ยูเรก้าขึ้นมาได้ โดยเพื่อน ๆ สามารถคลิกเขาไปฟังได้ในเพลย์ลิสต์นี้เลย


5. กลิ่นช่วยกระตุ้นความทรงจำ

บนโต๊ะหนังสือนอกจากอุปกรณ์การเรียนแล้ว เรายังสามารถจุดเทียนหอม ใช้น้ำมันหอมระเหย หรือวางดอกไม้ที่มีกลิ่นมาไว้บนโต๊ะ เพื่อเป็นตัวช่วยสร้างบรรยากาศให้เหมาะกับการอ่านหนังสือด้วย เช่น 

  • กลิ่นลาเวนเดอร์ : ช่วยให้เรารู้สึกสงบ มีสมาธิ โฟกัสกับสิ่งต่าง ๆ ได้นานขึ้น เหมาะกับการอ่านหนังสือที่ต้องใช้เวลาทำความเข้าใจบทเรียนต่าง ๆ หรือการทำโจทย์ที่ต้องอาศัยการจดจ่อนาน ๆ
  • กลิ่นโรสแมร์รี่ : ช่วยเรื่องกระตุ้นให้เราจดจำสิ่งต่าง ๆ ได้ดีขึ้น โดยเฉพาะความจำระยะสั้นเหมาะกับวันที่เราอยากจะท่องศัพท์หรืออ่านวิชาที่ต้องจำเยอะ ๆ 
  • กลิ่นเลมอน: ช่วยเพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจและช่วยเราทำสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างรอบคอบและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เหมาะกับวันที่อยากจะทำการบ้าน ทำโจทย์ ที่ต้องอาศัยความแอคทีฟหน่อย ๆ 
  • กลิ่นเปปเปอร์มินต์: ช่วยให้เรารู้สึกตื่นตัว จดจำสิ่งต่าง ๆ ได้อยากแม่นยำมากขึ้น แถมยังเหมาะกับงานที่ต้องใช้สมาธินาน ๆ อีกด้วย
  • กลิ่นกุหลาบ: เหมาะกับวันที่เฟล ๆ จากการเรียน (ใจพังแต่ยังต้องอ่านหนังสือต่อ) เพราะช่วยลดความวิตกังกล ความเศร้า หรืออารมณ์ทางลบได้

    จัดโต๊ะอ่านหนังสือ

    ขอบคุณภาพจาก pinterest

สำหรับเรื่องความสวยงามหรือการตกแต่ง เราคิดว่าเพื่อน ๆ แต่ละคนมีสไตล์ที่ชอบแตกต่างกันออกไป ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับ 5 เทคนิคข้างต้นกันได้เลย ซึ่งเราหวังว่าเพื่อน ๆ จะได้ลองนำไปปรับใช้กับการจัดโต๊ะอ่านหนังสือในห้องนอน เพื่อสร้างบรรยากาศให้เหมาะกับการใช้สมาธิทำการบ้าน อ่านหนังสือ หรือทบทวนบทเรียนในแอปพลิเคชัน StartDee ของเรา ให้สอบผ่านฉลุยแถมคะแนนปัง ๆ กันไปเลย 

อ่านบทความสนุก ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนได้เลยที่ ชวนทำชวนใช้: เทคนิคจดเร็วโน้ตไวด้วยการใช้สัญลักษณ์และตัวย่อ และ Soft Skills คืออะไร ทำไมเด็กยุคใหม่ต้องไม่พลาด

 

 

Reference 

Admin. (2019, March 07). The Psychology of Color: How Do Colors Influence Learning? Retrieved September 28, 2020, from https://www.shiftelearning.com/blog/how-do-colors-influence-learning

Spiegel, A. (2010, June 28). 'Mozart Effect' Was Just What We Wanted To Hear. Retrieved September 28, 2020, from https://www.npr.org/templates/story/story.php?storyId=128104580%3FstoryId

Choi, K., & Suk, H. (2016, April 26). Dynamic lighting system for the learning environment: Performance of elementary students. Retrieved September 28, 2020, from https://www.osapublishing.org/oe/abstract.cfm?uri=oe-24-10-A907

Patel, D. (2019, January 09). These 6 Types of Music Are Known to Dramatically Improve Productivity. Retrieved September 28, 2020, from https://www.entrepreneur.com/article/325492

Serras, L. (2019, April 19). 8 Scents Scientifically Proven to Increase Student Productivity. Retrieved September 28, 2020, from https://www.fragrancex.com/blog/scents-for-the-classroom/

Borgers, M., & Borgers, M. (2018, November 20). Can Smells Help you Learn Better? Retrieved September 28, 2020, from https://www.improvestudyhabits.com/smells-help-study-better/

แสดงความคิดเห็น